เชื้อรา Lasiodiplodia species สาเหตุโรคผลเน่าทุเรียนในประเทศไทย

โดย … รังสิมันตุ์ ธีระวงศ์ภิญโญ สมศิริ แสงโชติ และ ปัฐวิภา สงกุมาร
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทุเรียน ไม้ผลเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าการส่งออกสูงประเทศไทยส่งออกทุเรียนผลสดพันธุ์หมอนทอง ไปยังประเทศจีนเป็นหลัก แต่การส่งออกนั้น เลี่ยงไม่ได้กับปัญหาคุณภาพของผลผลิตและการเกิด “โรคผลเน่า” ก่อนถึงตลาดปลายทาง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยทางการขนส่งและการเข้าทำลายของเชื้อราหลายชนิด เชื้อราที่มักพบว่าก่อให้เกิดโรคผลเน่าทุเรียนมากที่สุดคือ Lasiodiplodia sp. ซึ่งพบได้ทั่วไปบนเศษซากพืช บริเวณโคนต้นทุเรียนในแปลงปลูก มีลักษณะคล้ายผงสีดำ เมื่อติดไปกับผลทุเรียนขณะเก็บเกี่ยว ทุเรียนจะแสดงอาการโรคในระยะสุกแก่เต็มที่ นอกจากนี้เชื้อราชนิดนี้ยังเป็นสาเหตุโรคลำต้นเน่า canker และ die back กับไม้ยืนต้นและไม้ผลหลายชนิดในพื้นที่เขตร้อนและเขตกึ่งร้อน (Ismail et al., 2012) ประเทศไทยมีรายงานการพบเชื้อรา L. theobromae ก่อโรคผลเน่าทุเรียนในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งจำแนกชนิดของเชื้อราโดยศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาเท่านั้น (สมศิริ และ คณะ, 2539) ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือทางชีวโมเลกุลประกอบกับข้อมูลทางสัณฐานวิทยาเพื่อจัดจำแนกชนิดของเชื้อราสกุลนี้ ซึ่งมีความแม่นยำและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า การวิเคราะห์ข้อมูลทาง phylogenetic ของตำแหน่ง ITS ร่วมกับ EF1- α มีประสิทธิภาพในการจำแนกสปีชีส์ของเชื้อราสกุล Lasiodiplodia ได้ดี (Alves et al., 2008)

จากข้อมูลข้างต้นจึงนำมาซึ่งการวิจัยจัดจำแนกชนิดของเชื้อรา Lasiodiplodia สาเหตุโรคผลเน่าทุเรียนในประเทศไทย ด้วยข้อมูลทางสัณฐานวิทยาร่วมกับลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ ITS และ EF1- α เพื่อยืนยันชนิดของเชื้อราให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

พิสูจน์ความสามารถการเกิดโรคผลเน่า

จากการทดสอบความสามารถในการก่อโรคของเชื้อรา โดยทำการปลูกเชื้อราด้วยเส้นใยบนชิ้นวุ้นกับผลทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว สามารถก่อให้เกิดแผลสีน้ำตาลถึงดำบนผลทุเรียนในระยะสุกแก่เต็มที่และอาจพบเส้นใยสีเทาของเชื้อราขึ้นบริเวณแผล (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 อาการโรคผลเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Lasiodiplodia spp.

ลักษณะทางสัญฐานวิทยาของเชื้อรา

เส้นใยเชื้อรา Lasiodiplodia spp. มีสีเทาเจริญเร็ว (ภาพที่ 2 ก) โครงสร้าง pycnidia เป็น flask shape (ภาพที่ 2 ข) โดยภายใน pycnidia มีการสร้างโคนิเดียในระยะ immature ใสไม่มีสีและไม่มีผนังกั้นตามขวาง จากนั้นเปลี่ยนเป็นระยะ mature สีน้ำตาล-ดำ 1 septum มีรอยขีดลักษณะขรุขระตามยาว ที่ผิวด้านนอก โดยลักษณะรูปร่างและขนาดของโคนิเดียสามารถจำแนกชนิดของเชื้อราได้ดังนี้ L. theobromae โคนิเดียรูปร่าง subovoid  ถึง ellipsoid-ovoid ขนาด 22.24-26.68 x12.24-13.66 µm มี 1 septate  (ภาพที่ 2 ค) L. pseudotheobromae โคนิเดียรูปร่าง ellipsoid ขนาด 21.32-27.71×9.57-13.64 µm มี 1-2 septate    (ภาพที่ 2 ง) และ L. parva โคนิเดียรูปร่าง ovoid ขนาด 13-24.01×8.82-13.79 µm   (ภาพที่ 2 จ) และ พบ 1 ไอโซเลท ใกล้กับเชื้อรา L. lignicola ขนาดเท่ากับ 26.13-28.68x 14.16-16.21 µm และพบว่าไม่เปลี่ยนเป็นระยะ mature conidia (ภาพที่ 2 ฉ)

ภาพที่ 2 โคโลนีของเชื้อรา Lasiodiplodia (ก) pycnidia (ข) ลักษณะโคนิเดียของเชื้อรา L. theobromae (ค) L. pseudotheobromae (ง) L. parva (จ) L. lignicola (ฉ)

ลักษณะทางชีวโมเลกุลของเชื้อรา

จากตัวอย่างLasiodiplodia spp. นำมาสกัด DNA จากนั้นทำ PCR เพื่อเพิ่มปริมาณ DNA ที่บริเวณตำแหน่ง ITS และ EF1-α พบว่าสามารถ amplify ได้ 50 ไอโซเลทเมื่อนำลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ ITS และ EF1-α ที่ได้ตรวจสอบกับฐานข้อมูลใน GenBank ร่วมกับข้อมูลลักษณะทางสัณฐานวิทยาของโคนิเดีย จัดจำแนกได้ว่าแต่ละไอโซเลทมีความใกล้เคียงกับเชื้อรา L. theobromae L. pseudotheobromae L. parva และ L. lignicola

เมื่อนำลำดับนิวคลีโอไทด์ทั้งสองบริเวณของไอโซเลทตัวแทนมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ตามแผนภาพ phylogenetic tree พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ใน cladeA ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเชื้อรา L. theobromae ในส่วนของ clade B มีความใกล้ชิดกับเชื้อรา L. pseudotheobromae clade C ตัวอย่างมีความใกล้ชิดกับเชื้อรา L. parva และนอกจากนี้พบเชื้อรา 1 ไอโซเลท คือ LRT 016 มีลำดับนิวคลีโอไทด์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อรา L. lignicola CBS134112 clade D (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3  Maximum-likelihood tree จากการรวมกันของลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ internal transcribed spacer region (ITS) และ translation elongation factor 1-α (EF1- α)

จากผลการศึกษาทางสัณฐานวิทยาของเชื้อรา Lasiodiplodia spp. พบว่า ลักษณะเส้นใยของเชื้อรา pycnidia รูปทรง สี และขนาดของโคนิเดียแต่ละไอโซเลทมีความใกล้เคียงกันมากทำให้ยากต่อการจำแนกชนิดของเชื้อรา (Slippers et al., 2013) จึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกับลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ ITS และ EF1-α จากนั้นหาความสัมพันธ์บนแผนภาพ Phylogenetic tree พบว่าตัวอย่างเชื้อรามีความใกล้เคียงกับ L. theobromae L. pseudotheobromae L. parva และ L. lignicola ซึ่งบ่งชี้ว่าการศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ ITS และ EF1-α นั้นมีประสิทธิภาพในการระบุชนิดของ  เชื้อราในสกุลนี้ได้สอดคล้องกับรายงานของ Ismail et al. (2012) จากผลการวิจัยนี้กล่าวได้ว่าในปัจจุบันเชื้อรา Lasiodiplodia spp. ที่เป็นเชื้อสาเหตุโรคผลเน่าทุเรียนในประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายมากขึ้นจากอดีตที่พบเพียง L. theobromae เมื่อจำแนกโดยลักษณะสัณฐานเพียงอย่างเดียว (สมศิริ และ คณะ, 2539)

นอกจากนี้ Trakunyingcharoen et al. (2015) ได้รายงานว่า ในประเทศไทยพบ L. pseudotheobromae ก่อโรคผลเน่ากับอโวคาโดและโรค canker บนลำต้นของยางพารา L. theobromae ก่อโรค canker กับมะม่วงและโรค dieback กับสนสามใบ ละมุด ชมพู่ และเงาะ เป็นต้น (Chirawut, 2014) ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพืชอาศัยที่เชื้อรากลุ่มนี้สามารถเข้าทำลายได้ ฉะนั้นการระบุชนิดของเชื้อสาเหตุโรคให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการป้องกันควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพต่อไป

เชื้อรา Lasiodiplodia spp.สามารถก่อให้เกิดโรคผลเน่าทุเรียนได้ การจัดจำแนกชนิดของเชื้อราดังกล่าว ด้วยวิธีทางสัณฐานวิทยาประกอบกับข้อมูลทางชีวโมเลกุล พบว่า L. theobromae, L. pseudotheobromae L. parva และ      L. lignicola เป็นเชื้อราสาเหตุโรคที่แพร่กระจายอยู่ในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่พบ L. theobromae มากที่สุด (ร้อยละ 87)

บทความตีพิมพ์ลงใน Postharvest Newsletter ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 เมษายน – มิถุนายน 2564

เอกสารอ้างอิง

  • สมศิริ แสงโชติ, รัติยา พงศ์พิสุทธา และรณภพ บรรเจิดเชิดชู. 2539. โรคที่เกิดกับผลทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว. รายงานการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 34: 148-152.
  • Alves, A., P. W. Crous, A. Correia and A. J. L. Phillips. 2008. Morphological and molecular data  reveal cryptic speciation in Lasiodiplodia theobromae. Fungal Divers. 28:1-13.
  • Chirawut, B. 2014. Fruit rot disease of harvested rambutan and Its control. Thai Agricultural Research Journal 32 (1):89-109.
  • Ismail, A. M., G. Cirvilleri, G. Polizzi, P.W. Crous, J.Z. Groenewald and L. Lombard. 2012. Lasiodiplodia species associated with dieback disease of mango (Mangifera indica) in Egypt. Australasian Plant Pathol 41: 649-660.
  • Slippers, B., E. Boissin and A.J.L. Phillips. 2013. Phylogenetic lineages in the Botryosphaeriales: a systematic and evolutionary framework. Studies in Mycology 76: 31–49.
  • Trakunyingcharoen, T., L. Lombard, J.Z. Groenewald, R. Cheewangkoon, C. To-anun and P.W. Crous. 2015. Caulicolous Botryosphaeriales from Thailand. Persoonia 34 : 87–99.