มิติใหม่ของการล้างผักผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวโดยใช้ไมโครบับเบิลโอโซน

มิติใหม่ของการล้างผักผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวโดยใช้ไมโครบับเบิลโอโซน

โดยผศ.ดร.กานดา หวังชัย
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก โดยผักและผลไม้สดเป็นอาหารที่มีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยในปี พ.ศ.2562 มีการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารมากกว่าร้อยละ 30 ของทั้งหมด และมีการส่งออกผักและผลไม้สดเป็นมูลค่า 88,700 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2561 คิดเป็น 29.24 เปอร์เซ็นต์ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2561) สอดคล้องกับปริมาณของกลุ่มผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่รักสุขภาพ และต้องการรับประทานผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น โดยในประเทศไทยมีความต้องการเพิ่มขึ้น 48% โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำว่าการบริโภคผักและผลไม้สดประมาณวันละ 400-600กรัม สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ หัวใจขาดเลือดร้อยละ31 เส้นเลือดในสมองตีบ ร้อยละ19 ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหาร ร้อยละ 19 มะเร็งปอด ร้อยละ 12 มะเร็งลำไส้ใหญ่ ร้อยละ 2 เป็นต้น แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือผักและผลไม้สดยังคงมีความเสี่ยงด้านคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งส่งผลต่อความไม่มั่นใจในการบริโภคผักและผลไม้ของประชาชน จากการตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สดที่บริโภคในประเทศพบว่าเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบปัญหาการส่งออกผักผลไม้ไปจำหน่ายในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากพบการปนเปื้อนสารตกค้างและจุลินทรีย์อย่างต่อเนื่อง และอียูได้เพิ่มความเข้มงวดในกฎระเบียบที่เรียกว่า EC regulation 66/2009 โดยเพิ่มระดับการสุ่มตรวจสารกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตสำหรับสินค้าผักในกลุ่ม มะเขือ กะหล่ำ และถั่วฝักยาวเป็นระดับ 50%  จะเห็นได้ว่าประชาชนยังอยู่ในระดับความเสี่ยง ต่อการบริโภคผลผลิตที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยในช่วงปี 2559-2562 พบข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ มีผู้ป่วยจำนวน 17,595 ราย ที่รัฐบาลจ่ายค่ารักษาสูงถึง 80 ล้านบาท ยังไม่นับรวมผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษแบบสะสมทำให้เกิดอาการป่วยแบบเรื้อรังอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบการปนเปื้อนของเชื้อ Escherichia coli และ Salmonella spp. ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร และผู้บริโภคอีกด้วย โดยพบปัญหาการปนเปื้อนตั้งแต่ผู้รวบรวมสินค้าผักและโรงคัดบรรจุที่มีการล้าง คัด ตัดแต่งก่อนบรรจุลงภาชนะส่งต่อไปยังแหล่งจำหน่าย (ภาพ1)

ปัญหาการปนเปื้อนสารเคมี และเชื้อจุลินทรีย์ในผักผลไม้

การใช้ไมโครบับเบิลโอโซน จึงเป็นมิติใหม่ของคนไทยในการนำมาใช้ในการล้างผักผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำไมโครบับเบิลมาใช้ร่วมกับโอโซนเพื่อแก้ปัญหาการละลายของก๊าซโอโซนในน้ำ โดยในต่างประเทศใช้ในการบำบัดน้ำเสียของอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ไมโครบับเบิลทำให้ขนาดของฟองอากาศที่ได้รับโอโซนมีขนาดเล็กลงน้อยกว่า 10 ไมโครเมตร ขณะที่ฟองไอน้ำปกติมีขนาดหน่วยมิลลิเมตร ดังนั้นฟองอากาศแบบไมโครบับเบิลจึงช่วยเพิ่มพื้นที่ผิว ความหนาแน่น และความดันภายใน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีไมโครบับเบิลสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้โอโซนโดยเพิ่มความสามารถในการออกซิไดส์ทำให้โครงสร้างหรือพันธะของสารต่างๆของสารเกิดการแตกตัวจึงทำให้ความเป็นพิษลดลง (ภาพ 2)

ระบบไมโคร/นาโนบับเบิลโอโซน

การประยุกต์ใช้ไมโครบับเบิลร่วมกับโอโซนในการลดการปนเปื้อนในผลิตผลทางการเกษตร

การควบคุมโรค

การให้โอโซนแบบไมโครบับเบิลสามารถทำให้ได้อนุมูลไฮดรอกซิล (OH•) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ค่อนข้างแรง ได้มากกว่าการใช้โอโซนแบบฟองแมคโคร (macrobubble) โดยอนุมูลไฮดรอกซิล เป็นตัวออกซิไดส์ที่แรงที่สุดเมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ โดยพบว่าสามารถทำลายสารโพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (polyvinyl alcohol) ซึ่งปกติจะสลายตัวได้ยากมากในสภาพธรรมชาติ (Takahashi et al., 2007) และสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Fusarium oxysporum, F. melonis และ Pectobacterium carotovorum ในสารละลายที่ใช้เพาะปลูกพืชแบบไฮโดรโปรนิก รวมทั้งการล้างมะเขือเทศสดด้วยน้ำไมโครบับเบิลรร่วมกับโอโซน สามารถลดปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีผลต่อการเน่าเสียภายหลังการเก็บเกี่ยว (Fukumoto et al., 2010) กรณีการใช้น้ำตาลซูโครสในรูปเอสเตอร์ของกรดไขมันในรูปแบบของฟองไมโครร่วมกับน้ำอิเล็กโทรไลซ์ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส พบว่าช่วยลดปริมาณการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ในผักสลัด (Kevin et al., 2010) นอกจากนี้ในการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกับฟองนาโนที่ความดันต่ำกว่า 2.0 ไมโครพาสคาลที่อุณหภูมิห้อง ในการลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ โคลิฟอร์มได้ดีโดยให้ผลเทียบเท่ากับการใช้สารละลายโซเดียมไฮโพคลอไรต์ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร ในต้นหอมตัดแต่ง (Kobayashi et al., 2010)

การลดสารพิษตกค้าง

การใช้ไมโครบับเบิลร่วมกับโอโซนในรูปแบบการอัดอากาศ (decompression) ซึ่งสามารถผลิตแก๊สที่เพียงพอที่จะละลายในน้ำ ภายใต้ความดันบรรยากาศ 3-4 atm เมื่อแก๊สอิ่มตัวในน้ำ และหลุดออกจากน้ำกลายเป็นไมโครบับเบิลซึ่งวิธีนี้ให้ผลในการลดสารตกค้างได้ดีกว่าการใช้ไมโครบับเบิลร่วมกับโอโซนแบบการหมุนเวียนน้ำและอากาศ (gas-water circulation) เป็นลักษณะที่แก๊สถูกปล่อยละลายลงไปในน้ำและให้มีการละลายตัวด้วยเครื่องกวนอย่างแรงทำให้ฟองขนาดใหญ่แตกตัวเป็นไมโครบับเบิลและแบบอัดอากาศมีค่าโอโซนที่ละลายน้ำและให้ปริมาณอนุมูลไฮดรอกซิลมากกว่าแบบที่หมุนเวียนน้ำและอากาศโดยเข้าทำลายโมเลกุลของสารอินทรีย์ เช่น สารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดและสามารถลดปริมาณสารตกค้างเฟนิโทรไทออน (FT) ในผักสลัด มะเขือเทศเชอรี และสตรอว์เบอร์รีได้ เมื่อเปรียบเทียบพืชทั้ง 3 ชนิดพบว่าลักษณะของผลผลิตมีผลต่อไมโครบับเบิลในการเข้าทำลายสารตกค้าง โดยในผักสลัดและสตรอว์เบอร์รีสามารถเข้าทำปฏิกิริยาทำให้สารตกค้างลดลงได้มากกว่ามะเขือเทศเชอรีเนื่องจาก มะเขือเทศมีเปลือกผลที่หนากว่าสตรอเบอรีและที่ผิวของผลมีลักษณะขรุขระทำให้มีพื้นที่ผิวที่สัมผัสโอโซนได้ เมื่อเปรียบเทียบการใช้เครื่องกำหนดไมโครบับเบิลทั้ง 2 แบบ คือ แบบอัดอากาศ และแบบหมุนเวียนน้ำและอากาศ (Takahashi et al., 2007)

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้จัดสร้างเครื่องต้นแบบเครื่องแรกของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการล้างผักผลไม้ในระดับครัวเรือนใช้งานง่าย มีขนาดความจุ 60 ลิตร หลังการล้างสามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ (ภาพ 3)

เครื่องต้นแบบล้างผักระบบไมโครบับเบิลร่วมกับโอโซน
ภาพ 3 เครื่องต้นแบบล้างผักระบบไมโครบับเบิลร่วมกับโอโซนขนาด 60 ลิตร จากลักษณะด้านนอก (a) ด้านในที่ประกอบด้วยระบบไมโครบับเบิลที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องผลิตโอโซน (b) ลักษณะอ่างที่มีระบบหมุนเวียนน้ำ (c) และลักษณะน้ำจากที่มีลักษณะขุ่นขาวสามารถนำไปใช้ในการล้างผักผลไม้ (d)

ดังนั้นการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จึงน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยในการลดสารพิษที่ตกค้างของผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถผ่านมาตรฐานขั้นต้นของการส่งออกที่แต่ละประเทศกำหนด ซึ่งคาดว่าในอนาคตหากประชาชนตระหนักถึงสุขอนามัยมากขึ้นความต้องการเทคโนโลยีนี้เพื่อทำความสะอาดผักผลไม้น่าจะเพิ่มสูงขึ้น  โดยมูลค่าการตลาดและสัดส่วนของตลาดปลูกผักผลไม้ในปัจจุบัน พบว่าส่วนแบ่งของตลาดที่สำคัญ ได้แก่

  1. ธุรกิจปลูกผักผลไม้ โดยบริษัทใหญ่เริ่มเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น และที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 399 ราย มูลค่าการลงทุน 8,296 ล้านบาท (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, 2561)
  2. ธุรกิจการส่งออกผักผลไม้พบว่าในปี 2561 มีมูลค่า 88,700 ล้านบาท 
  3. กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อย 2562 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และธุรกิจตลาดผลไม้ตัดแต่งในปี 2560 มีมูลค่า 2,100 ล้านบาท (ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร, 2561) และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปี 2565 ประมาณ 2,197 ล้านบาท
  4. ธุรกิจร้านอาหารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจในปี 2561 มีร้านอาหารในประเทศไทย 205,709 ร้าน ซึ่งกรุงเทพมหานครฯ มีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือ เชียงใหม่ อัตราการเติบโตมีมูลค่าโดยรวม 400,000 ล้านบาท (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, 2561) ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการรับรองผลิตผลที่ผ่านการล้างที่สามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และสารตกค้างทางการเกษตรเพื่อ สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

บทความนี้ตีพิมพ์ลงใน Postharvest Newsletter ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2563

เอกสารอ้างอิง

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. 2561. ปลูกผักผลไม้ ธุรกิจดาวรุ่ง รับนโยบายรัฐบาล “มหานครผลไม้โลก”. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก www.prachachat.net/column/news-215092. สืบค้นวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561.
  • กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. 2561. สินค้าผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก www.ditp.go.th/contents_attach/216200.pdf. สืบค้นวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561.
  • ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม. 2561. ส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้ตัดแต่งในประเทศไทย ปี 2560. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://fic.nfi.or.th/Food- MarketShareInThailandDetail.php?id=225. สืบค้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2562.
  • Fukumoto, Y., Hashizume, K. and Nishimura, Y. 2010. Development of supply system of  microbubble ozonated water in agriculture. Horticulture, Environment and Biotechnology 51: 21-27.
  • Kevin, W.S., Asako, Y., Ai, M., Mami, Y., Masako, Y., Tomoko, M., Natsumi, M., ken-Ichi, H. and Takahashi, M. 2010. Decontamination of fresh produce by the use of slightly acidic hypochlorous water following pretreatment with sucrose fatty acid ester under microbubble generation. Food Control 21: 1240-1244.
  • Kobayashi,F.,Ikeura,H.,Tamaki,M. and Hayata,Y.2010.Application of CO2 micro-and nano- bubbles at lower pressure and room temperature to inactivate microorganisms in cut wakegi (Allium wakegi Araki). Acta Horticulturae 875: 417-424
  • Takahashi, M., Chiba, K. and Li, P. 2007. Formation of hydroxyl radicals by collapsing ozone   microbubbles under strong acid conditions. Journal of Physical Chemistry 111: 11443-11446.