การประยุกต์เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปีสำหรับการตรวจหาสารตกค้างในผลิตผลเกษตร

การประยุกต์เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี

โดย … ดร. ปาริชาติ  เทียนจุมพล
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Near Infrared Spectroscopy, NIRS) เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย  เป็นเทคนิคที่ใช้คลื่นแสงซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic wave) ที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 700-2500  นาโนเมตร  ซึ่งอยู่ระหว่างคลื่นไมโครเวฟ (microwave) และคลื่นแสงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (visible light, VIS) นำมาใช้ในการตรวจสอบสารประกอบหรือคุณภาพของตัวอย่างโดยไม่ทำลายตัวอย่าง (non-destructive) ใช้หลักการดูดกลืนพลังงานของโมเลกุลสารประกอบที่มีพันธะ H-O, H-N, H-C และ C=O อยู่ในโมเลกุล เป็นต้น แล้วนำค่าการดูดกลืนแสงมาหาความสัมพันธ์ถดถอยเชิงเส้น (linear regression) กับผลการวิเคราะห์ทางเคมีโดยวิธีการ Chemometrics เพื่อให้ได้สมการในการทำนายปริมาณสารหรือสารประกอบชนิดนั้นๆ แล้วจึงสามารถนำมาใช้ในงานวิเคราะห์ประจำวันได้ (routine analysis) เทคนิค NIRS มีข้อดีคือใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบสั้น ประหยัดแรงงาน ลดการใช้สารเคมีในการตรวจวิเคราะห์ และลดต้นทุนการผลิต (Osborne et al., 1993; Williams and Norris, 2001)

การประยุกต์เทคนิค NIRS ในการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในตัวอย่าง โดยเฉพาะผลิตผลเกษตรได้มีการศึกษาวิจัยของนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว โดย Brunet et al. (2009) ได้รายงานว่า NIRS เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ประหยัดเวลาและต้นทุนในการตรวจหาปริมาณ chlordecone ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลงในกลุ่มออร์แกโนคลอรีน (organochlorine) ที่ตกค้างในดิน นอกจากนี้ Salguero-Chaparro et al. (2013) ได้ใช้เทคนิค NIRS ในช่วงความยาวคลื่น 400-2500 นาโนเมตร ตรวจหาปริมาณสาร diuron ที่ตกค้างในผลมะกอก (olive) และ Sanchez et al. (2017) สามารถใช้เทคนิค NIRS จำแนกพริกหวาน (sweet pepper) ที่มีการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชออกจากพริกหวานที่ไม่มีการปนเปื้อนได้ด้วย Diode-array spectrometer เช่นเดียวกับ Jamshidi et al. (2016) ได้ใช้เทคนิค VIS/NIRS ในช่วงความยาวคลื่นสั้น (450-1100 นาโนเมตร) ตรวจสอบปริมาณสารกำจัดศัตรูพืช diazinon ที่ตกค้างในแตงกวา (cucumber) ได้

สำหรับงานวิจัยของทีมนักวิจัยของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเทคนิค NIRS มาใช้ในการตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นสารตกค้าง ในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต (organophosphates) และกลุ่มไพรีทรอยด์ (pyrethroid) ทั้งในผักและผลไม้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.การตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผัก

ปัญหาเรื่องสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่ตกค้างเกินกว่าปริมาณที่มาตรฐานกำหนดในผักที่วางจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ผลการรายงานของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network, Thai-PAN) ในปี พ.ศ. 2559 พบว่า ผักที่มีตรา Q มีสารตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด ตรารับรองออร์แกนิคไทยแลนด์ของกระทรวงเกษตรฯ พบสารตกค้างจำนวน 1 ใน 4 ส่วนผักที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าพบสารตกค้างไม่แตกต่างจากตลาดทั่วไป ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงได้เร่งปฏิรูปการให้ตรารับรอง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของประชากร จึงได้เร่งดำเนินการด้านความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร โดยการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดอย่างเร่งด่วน ดังนั้นปาริชาติ และคณะ (2554) จึงได้ศึกษาและพัฒนาเทคนิค NIRS  สำหรับตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักเพื่อทดแทนวิธีการเดิม ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาสเปกตรัมของสารมาตรฐานสารกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด ได้แก่ คลอไพริฟอส (chlorpyrifos) และ ไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) แล้วจึงตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชในผลผลิตเกษตร จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี (cabbage) ผักกาดหอม (lettuce) และพริกหวาน  ซึ่งผลงานวิจัยสรุปได้ดังนี้

1.1 สเปกตรัมของสารมาตรฐานของสารกำจัดศัตรูพืช

ทำการเตรียมสารละลายมาตรฐานของสารกำจัดศัตรูพืชที่ระดับความเข้มข้น 0, 10, 100 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/L) นำมาหยดลงบนแผ่นกระดาษกรอง ผึ่งให้แห้ง แล้วบรรจุใน Standard cup with gold reflectance (ภาพที่ 1) ก่อนนำไปวัดสเปกตรัมด้วยเครื่อง NIRSystem 6500 ช่วงความยาวคลื่น 400-2500 นาโนเมตร

ขั้นตอนการบรรจุกระดาษกรองที่มีสารกำจัดศัตรูพืชลงใน Standard cup with gold reflectance
ภาพที่ 1 ขั้นตอนการบรรจุกระดาษกรองที่มีสารกำจัดศัตรูพืชลงใน Standard cup with gold reflectance

หลังจากนั้นแปลงข้อมูลสเปกตรัมด้วยเทคนิคทางคณิตศาสตร์ เพื่อลดความแปรปรวนของข้อมูลสเปกตรัม พบว่า สเปกตรัมของสารกำจัดศัตรูพืชมาตรฐาน chlorpyrifos มีพีกหัวกลับที่ความยาวคลื่น 1406, 1496, 1904 และ 2256 นาโนเมตร (ภาพที่ 2) ขณะที่สเปกตรัมของสารกำจัดศัตรูพืชมาตรฐาน cypermethrin ภายหลังการแปลงข้อมูลด้วยเทคนิคทางคณิตศาสตร์เช่นเดียวกับสเปกตรัมของสารชนิดแรก มีพีกหัวกลับที่ความยาวคลื่น 1412, 1670, 1910 และ 2132 นาโนเมตร (ภาพที่ 3) กล่าวได้ว่าสารกำจัดศัตรูพืชทั้งสองชนิดสามารถดูดกลืนแสงเนียร์อินฟราเรดที่ความยาวคลื่นแตกต่างกัน จึงได้นำเทคนิคและข้อมูลจากขั้นตอนนี้ไปศึกษาและพัฒนาในขั้นตอนต่อไป

สเปกตรัมเฉลี่ยของสารมาตรฐานสารกำจัดศัตรูพืช

1.2 การพัฒนาเทคนิคการตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชในผักด้วยเทคนิค NIRS 

จากผลการทดลองข้อ 1.1 จึงได้ศึกษาและพัฒนาเทคนิคการตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชด้วยเทคนิค NIRS ในผัก 3 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดหอม และพริกหวาน โดยการสร้างสมการเทียบมาตรฐานสำหรับทำนายปริมาณสารกำจัดศัตรูพืช นำสารมาตรฐานสารกำจัดศัตรูพืชที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ มาหยดลงบนชิ้นตัวอย่างที่ตัดให้เป็นวงกลมขนาดเท่ากับ Standard sample cup นำไปผึ่งให้หมาด แล้วบรรจุลงในเซลล์บรรจุตัวอย่าง (sample cup) ก่อนนำไปวัดสเปกตรัมด้วยเครื่อง NIRSystem6500 (ภาพที่ 4)

ขั้นตอนการเตรียมชิ้นตัวอย่าง
ภาพที่ 4 ขั้นตอนการเตรียมชิ้นตัวอย่างที่มีสารมาตรฐานสารกำจัดศัตรูพืช บรรจุในเซลล์บรรจุตัวอย่าง

สมการเทียบมาตรฐานของ Chlorpyrifos

สร้างสมการเทียบมาตรฐานของ chlorpyrifos ในกะหล่ำปลี แปลงข้อมูลสเปกตรัมด้วยเทคนิคทางคณิตศาสตร์แล้วจึงพัฒนาสมการเทียบมาตรฐานด้วยเทคนิค PLSR พบว่าสเปกตรัมในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 1130-2370 นาโนเมตร ให้ผลของสมการเทียบมาตรฐานดีที่สุด คือ มีค่า R (multiple correlation coefficients), SEC (standard error of calibration), SEP (standard error of prediction) และ Bias (average of different between actual value and NIR value) เท่ากับ 0.94, 137.55 mg/L, 168.86 mg/L และ 3.01 mg/L ตามลำดับ สมการเทียบมาตรฐานของ chlorpyrifos ในผักกาดหอม พบว่าสเปกตรัมในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 1150-2450 นาโนเมตร ให้ผลของสมการเทียบมาตรฐานดีที่สุด คือ มีค่า R, SEC, SEP และ Bias เท่ากับ 0.93, 153.34 mg/L, 176.15 mg/L และ -1.61 mg/L ตามลำดับ สมการเทียบมาตรฐานของ chlorpyrifos ในพริกหวานสีเขียว พบว่าสเปกตรัมในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 1220-2320 นาโนเมตร ให้ผลของสมการเทียบมาตรฐานดีที่สุด คือ มีค่า R, SEC, SEP และ Bias เท่ากับ 0.63, 334.07 mg/L, 374.57 mg/L และ 25 mg/L ตามลำดับ

สมการเทียบมาตรฐานของ Cypermethrin

สมการเทียบมาตรฐานของ cypermethrin ในกะหล่ำปลี แปลงข้อมูลสเปกตรัมด้วยเทคนิคทางคณิตศาสตร์แล้วจึงพัฒนาสมการเทียบมาตรฐานด้วยเทคนิค PLSR พบว่าสเปกตรัมในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 1500-1900 นาโนเมตร ให้ผลของสมการเทียบมาตรฐานดีที่สุด คือ มีค่า R, SEC, SEP และ Bias เท่ากับ 0.95, 133.81 mg/L, 139.77 mg/L และ 2.20 mg/L ตามลำดับ สมการเทียบมาตรฐานของ cypermethrin ในผักกาดหอม พบว่าสเปกตรัมในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 1700-2468 นาโนเมตร ให้ผลของสมการเทียบมาตรฐานดีที่สุด คือ มีค่า R, SEC, SEP และ Bias เท่ากับ 0.94, 141.56 mg/L, 169.94 mg/L และ -0.04 mg/L ตามลำดับ สมการเทียบมาตรฐานของ cypermethrin ในพริกหวานสีเขียว  พบว่าสเปกตรัมในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 1310-2310 นาโนเมตร ให้ผลของสมการเทียบมาตรฐานดีที่สุด คือ มีค่า R, SEC, SEP และ Bias เท่ากับ 0.62, 333.94 mg/L, 333.28 mg/L และ 61.17 mg/L ตามลำดับ

ผลการศึกษาด้วยเทคนิค NIRS สามารถใช้ตรวจหาปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชในผักได้ โดยมีความแม่นยำค่อนข้างสูงในกะหล่ำปลีและผักกาดหอม ยกเว้นพริกหวานที่มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ อาจเป็นผลจากลักษณะผิวของพริกหวานที่มีไขเคลือบค่อนข้างหนา ส่งผลต่อการดูดซับสารกำจัดศัตรูพืช (เฉพาะวิธีการเตรียมที่ใช้ในงานวิจัยนี้) และการดูดกลืนแสงเนียร์อินฟราเรด

2.การตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผลไม้ (ส้ม)

ส้มเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการผลิตส้มพันธุ์สายน้ำผึ้งของประเทศไทยประสบปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งในด้านราคาตกต่ำ ปัญหาเรื่องการระบาดของโรคและแมลง โดยเฉพาะโรคกรีนนิ่งของผลส้ม (Citrus greening disease) ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่มากเกินไป เกิดปัญหาการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในผลส้มปริมาณค่อนข้างสูง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตผลส้มพันธุ์สายน้ำผึ้งเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง Chalermphol and Shivakoti (2009) ได้พบว่าสารเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อันตรายปานกลางถึงอันตรายมากที่สุด โดยสารเมโทมิล (methomyl) เป็นสารอันตรายมากที่สุดและมีการใช้มากถึง 87.8% เป็นสารกำจัดแมลงที่อยู่ในกลุ่ม คาร์บาเมต (carbamates) รองลงมาคือสารไซเปอร์เมทริน ใช้มากถึง (70.8%) เป็นสารกำจัดแมลงที่อยู่ในกลุ่มไพริทรอยด์ และสารคลอร์ไพริฟอส ใช้ประมาณ (63.1%) เป็นสารกำจัดแมลงที่อยู่ในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต

นอกจากนี้ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารได้สำรวจปริมาณการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 กลุ่ม ในผลส้มที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่าและจีน จำนวน 183 ตัวอย่าง และผลส้มจากแหล่งผลิตในประเทศ จำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่าผลส้มที่นำเข้าจากต่างประเทศตรวจพบสารตกค้างทั้งหมดจำนวน 130 ตัวอย่าง พบสารตกค้างจำนวน 14 ชนิด ซึ่งสารที่มีความถี่ในการตรวจพบสูง คือ   คลอร์ไพริฟอส อีทิออน ไซเปอร์เมทริน และเททราดิฟอน (tetradifon) ส่วนผลส้มที่ผลิตในประเทศ พบสารตกค้างทุกตัวอย่าง จำนวน 9 ชนิด  และสารที่มีความถี่สูงในการตรวจพบ คืออีทิออน และคาร์โบฟูแรน (carbofuran) (ทองสุข และคณะ, 2558)

ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในผลส้มสายน้ำผึ้ง ทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย จึงได้นำเทคนิค NIRS มาใช้ในการตรวจหาสารตกค้างในผลส้มพันธุ์สายน้ำผึ้ง ทดแทนวิธีการตรวจสอบแบบเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่  1) QuEChERS method (Quick, Easy, Cheap, Effective, Rugged and Safe method) เป็นวิธีที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารกำจัดแมลงทั่วโลกสนใจ และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจาก AOAC และ CEN (Committee of European Normalization) 2) Positive list method เป็นวิธีการที่ใช้ในการเตรียมตัวอย่างเพื่อการวิเคราะห์หาสารตกค้างในผักและผลไม้ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นและสินค้าที่นำเข้า อีกทั้งยังเหมาะสมในการเตรียมตัวอย่างสำหรับการตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างในงานวิจัย 3) Steinwandter method วิธีนี้ได้รับความนิยมในการเตรียมตัวอย่างสารเคมีกำจัดแมลงตกค้างในผักและผลไม้ในประเทศเยอรมัน วิธีนี้มีขั้นตอนคล้ายกับวิธี Positive list แต่ไม่ได้ใช้วิธี Suction ในการทำให้บริสุทธิ์ขั้นแรกและไม่มีการแยกชั้นด้วยเทคนิคพาทิชัน (วิสุทธ, 2553) ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้น วิธีการทั้งสามจะต้องทำลายผลิตผล ส่งผลให้ผลิตผลที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์เสียหาย การตรวจวิเคราะห์บางอย่างต้องใช้ระยะเวลานานและใช้สารเคมีจำนวนมาก อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์ค่อนข้างสูง มีขั้นตอนและกระบวนการที่ซับซ้อน และต้องใช้ผู้ที่มีความรู้และความชำนาญในการวิเคราะห์ ดังนั้นดนัยและคณะ (2556) จึงได้ศึกษาและพัฒนาการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในส้มด้วยเทคนิค NIRS ซึ่งได้ผลการวิจัยดังนี้

2.1 การประเมินสารตกค้างในผลส้มสายน้ำผึ้งด้วยเทคนิค NIRS

ในการทดลองได้นำสารละลายมาตรฐานของสารกำจัดศัตรูพืชทั้งสองชนิด (cypermethrin และchlorpyrifos) ผสมลงในน้ำคั้นของผลส้มที่ระดับความเข้มข้น 0.1, 1.0, 10 และ 50  mg/L หยดลงบนกระดาษกรอง แล้วนำไปไล่ความชื้นในตู้อบที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 ชั่วโมง บรรจุกระดาษกรองในเซลล์บรรจุตัวอย่าง  ดังภาพที่ 5

การเตรียมตัวอย่าง

ผลการศึกษา พบว่าสมการเทียบมาตรฐานที่สร้างจากข้อมูลสเปกตรัมของกระดาษกรองที่มีน้ำคั้นผลส้มที่ผสม cypermethrin ที่ช่วงความยาวคลื่น 1440-2468 นาโนเมตร ให้ความแม่นยำสูงที่สุด โดยมีค่า R เท่ากับ 0.99 ค่า SEC เท่ากับ 2.06 mg/L ค่า SEP เท่ากับ 2.17 mg/L และค่า Bias เท่ากับ -0.03 mg/L ส่วนสเปกตรัมของกระดาษกรองที่มีน้ำคั้นผลส้มที่ผสม chlorpyrifos ช่วงความยาวคลื่น 1700-2436 นาโนเมตร ให้ความแม่นยำของสมการเทียบมาตรฐานสูงที่สุด มีค่า R เท่ากับ 0.99, ค่า SEC เท่ากับ 2.37 mg/L ค่า SEP เท่ากับ 2.45 mg/L และค่า Bias เท่ากับ -0.74 mg/L  จะเห็นว่าสมการเทียบมาตรฐานสารกำจัดศัตรูพืชทั้งสองชนิดให้ผลค่อนข้างดี โดยมีค่า R ค่อนข้างสูง ค่า SEC และ SEP ค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากโมเลกุลของสารกำจัดศัตรูพืชทั้งสองชนิดมีการตอบสนองต่อแสงเนียร์อินฟราเรดดี ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างค่าการดูดกลืนแสงกับปริมาณสาร (ความเข้มข้นของสาร) ค่อนข้างสูง จึงทำให้สมการเทียบมาตรฐานมีความแม่นยำค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองนี้เป็นเพียงบางส่วนของงานวิจัยด้านนี้เท่านั้น ซึ่งเลือกมาเฉพาะการเตรียมตัวอย่างสารกำจัดศัตรูพืชโดยหยดลงบนกระดาษกรอง ซึ่งให้ผลดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการต่างๆ ที่ได้เคยศึกษาทดลองในระยะเวลาที่ผ่านมา และจะได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการตรวจวัดสารตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในลำดับต่อไป เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้งานจริงในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

เอกสารอ้างอิง

  • เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช.  2559.  ความจริงอันเจ็บปวด ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ปี 2559.  [ออนไลน์].  แหล่งที่มา: http://www.thaipan.org/node/831 (27 มีนาคม 2560)
  • ดนัย บุณยเกียรติ พิเชษฐ์ น้อยมณี ปาริชาติ เทียนจุมพล และรุ่งนภา ไกลถิ่น. 2556. การพัฒนาเทคนิคการตรวจหาสารตกค้างในผลส้มสายน้ำผึ้งโดยเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี. รายงานฉบับสมบูรณ์. ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, กรุงเทพฯ. 97 หน้า.
  • ทองสุข ปายะนันท์ จิตผกา สันทัดรบ วิชาดา จงมีวาสนา รัติยากร ศรีโคตร และวีรวุฒิ วิทยานันท์.  2558.  การศึกษาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผลส้ม.  วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 57(4): 391-400.
  • ปาริชาติ เทียนจุมพล พิเชษฐ์ น้อยมณี วรรณวรางค์ พัฒนะโพธิ์ สงวนศักดิ์ ธนาพรพูนพงษ์ และวรินทร มณีวรรณ.  2554.  การตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักบางชนิดด้วยเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี.   รายงานฉบับสมบูรณ์. ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, กรุงเทพฯ. 53 หน้า.
  • วิสุทธิ เชวงศรี.  2553.  การพัฒนาวิธีวิเคราะห์สารพิษตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัสในมังคุด.  [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา: http://it.doa.go.th.  (24 มีนาคม  2560)
  • Brunet, D., T.  Woignier, M.  Lesueur-Jannoyer, R.  Achard, L. Rangon and B.G. Barthe.  2009. Determination of soil content in chlordecone (organochlorine pesticide) using near infrared reflectance spectroscopy (NIRS).  Environmental Pollution 157: 3120-3125.
  • Chalermphol, J. and G.P. Shivakoti.  2009.  Pesticide use and prevention practices of tangerine growers in northern Thailand.  The Journal of Agricultural Education and Extension 15: 21-38.
  • Jamshidi, B., E.  Mohajerani and J.  Jamshidi.  2016.  Developing a Vis/NIR spectroscopic system for fast and non-destructive pesticide residue monitoring in agricultural product.  Measurement 89: 1-6.
  • Osborne, B.G., T. Feam and P.T. Hindle.  1993.  Practical NIR Spectroscopy with Applications in Food and Beverage Analysis. 2nd ed.  Longman Scientific & Technology, Harlow. 227 pp.
  • Salguero-Chaparro, L., A. J. Gaitn-Jurado, V. Ortiz-Somovilla, F. Pena-Rodrieugz.  2013.  Feasibility of using NIR spectroscopy to detect herbicide residues in intact olives.  Food Control 30:504-509.
  • Sanchez, M.T., K. Flores-Rojas, J.E. Guerrero, A. Garrido-Varo and D. Perez-Marin.   2010.  Measurement of pesticide residues in peppers by near-infrard reflectance spectroscopy.  Pest Management Science 66(6): 580-586.
  • Williams, P. and K. Norris.  2001.  Near Infrared Technology in Agricultural and Food Industries. 2nd ed.  American Association of Cereal Chemists, Inc.  St.  Paul, Minnesota, USA.  296 pp.