การสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของผลฟักทองญี่ปุ่น

การสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของผลฟักทองญี่ปุ่น

โดย … ณัฏฐวัฒณ์ หมื่นมาณี1,2 ปาริชาติ เทียนจุมพล1,2 กุลริศา เกตุนาค1,2 รุ่งนภา ไกลถิ่น1,2 และดนัย บุณยเกียรติ1,2,3

1สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กทม. 10400
3ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังการเก็บเกี่ยว เป็นปัจจัยสำคัญมากที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตผล ทางการเกษตร เพราะผลิตผลแต่ละชนิดจะมีการตอบสนองต่อวิธีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งการตอบสนองอาจเป็นไปได้ทั้งในทางบวกหรือทางลบ การเก็บรักษาผลิตผลจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น แต่บางครั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลิตผลได้ เช่น ความเสียหายที่เกิดจากอุณหภูมิตํ่า ทำให้เกิดอาการสะท้านหนาว (chilling injury) การสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ  และการเก็บรักษาผลิตผลในสภาพที่มีความชื้นต่ำจะทำให้สูญเสียน้ำและสูญเสียน้ำหนักมากเกินไป เป็นต้น (สังคม, 2542)

ผักและผลไม้เป็นผลิตผลที่บอบช้ำและเน่าเสียได้ง่าย และอาจเกิดจากปัญหาการกดทับ การกระแทก การสั่นสะเทือน และเมื่อผักและผลไม้เกิดความบอบช้ำหรือมีบาดแผลจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีน และมีการเข้าทำลายของจุลินทรีย์ (จิราภา, 2554) หากจุลินทรีย์เข้าทำลายผลิตผลจะก่อให้เกิดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง การเก็บรักษา การจัดจำหน่าย และเมื่อถึงมือผู้บริโภค การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องเข้าใจกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งหาวิธีการที่นำมาใช้ในการลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวทั้งปริมาณและคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร (Snowdon, 1990)

ปริมาณการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของผักและผลไม้สดในประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ในช่วงร้อยละ 5-25 และในประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 20-50 ซึ่งปริมาณการสูญเสียจะผันแปรตามชนิดของผลิตผลและฤดูกาล (จิราภา, 2554) ดังนั้นจึงควรมีการควบคุมกระบวนการทุกขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพเพื่อการลดการสูญเสียของผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว เช่น การใช้ดัชนีการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง การเลือกเก็บผลิตผลที่แก่พอดี การควบคุมการปฏิบัติงานของผู้เก็บเกี่ยวผลิตผล มีระบบการลดอุณหภูมิหรือลดความร้อนของผลิตผล มีความรู้ด้านการจัดมาตรฐานและคุณภาพ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมกับผลิตผล และเก็บรักษาในสภาวะที่มีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมกับผลิตผลแต่ละชนิด เป็นต้น

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยวผลฟักทองญี่ปุ่น จะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การสูญเสียที่เกิดขึ้นในแปลงปลูก เช่น การเข้าทำลายของโรคและแมลงขณะที่ยังเป็นผลอ่อน แล้วอาศัยอยู่ในผลฟักทอง ทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ของผลและมีลักษณะผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพระหว่างการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยวต่อไป

การสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของผลฟักทองญี่ปุ่นในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การเก็บเกี่ยว (รูปที่ 1A) โดยสุ่มประเมินการสูญเสียผลฟักทองหลังเก็บเกี่ยวและคัดแยกผลฟักทองที่ดีกับผลฟักทองที่มีตำหนิคำนวณหาเปอร์เซ็นต์การสูญเสีย จากนั้นนำผลฟักทองที่ดีขนย้ายจากแปลงปลูกโดยบรรจุในกระสอบพลาสติกมายังจุดรวบรวม ทำการประเมินการสูญเสียเมื่อมาถึงจัดรวบรวม (รูปที่ 1B) ในขั้นตอนการรวบรวมผลิตผลเพื่อคัดแยกขนาดหลังการคัดแยกคุณภาพและขนาดของผลฟักทองภายหลังการคัดแยกได้ประเมินการสูญเสียอีกครั้งหนึ่ง (รูปที่ 1C) และนำผลฟักทองที่ดีหลังการคัดแยกขนย้ายจากจุดรวบรวมไปยังโรงคัดบรรจุ ซึ่งเมื่อถึงโรงคัดบรรจุได้ประเมินการสูญเสียอีกครั้ง (รูปที่ 1D) พบว่าในแต่ละขั้นตอนมีการสูญเสียแตกต่างกัน ได้แก่ ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวมีผลฟักทองที่สมบูรณ์ดีเพียงร้อยละ 11.1 ที่เหลือเป็นผลฟักทองที่มีตำหนิ เช่น มีรอยขีดข่วน มีรอยแผลจากการเข้าทำลายของโรค แมลง และศัตรูพืช รวมทั้งหมดประมาณร้อยละ 88.9 โดยในขั้นตอนนี้มีผลฟักทองที่มีตำหนิที่เกิดจากรอยขีดข่วนบนผลมากถึงร้อยละ 50.0 มีตำหนิจากโรคร้อยละ 16.7 ตำหนิจากรอยทิ่มแทงร้อยละ 16.6 และตำหนิจากแมลงร้อยละ 5.6 ในขณะที่ขั้นตอนการขนย้ายฟักทองจากแปลงปลูกโดยใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทกระสอบพลาสติก พบมีการสูญเสียรวมทั้งหมดร้อยละ 23.3 โดยสาเหตุของการสูญเสียหลักในขั้นตอนนี้เกิดจากรอยขีดข่วนทั้งหมดเนื่องจากถุงฟักทองหนัก จึงใช้วิธีการลากถุง ในขั้นตอนการรวบรวมผลฟักทองที่จุดรวบรวมมีการสูญเสียร้อยละ 77.8  โดยเกิดขึ้นจากรอยขีดข่วนร้อยละ 43.3 พบตำหนิที่เกิดจากรอยทิ่มแทงผลฟักทองร้อยละ 34.5 และเมื่อประเมินการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวผลฟักทองญี่ปุ่นในขั้นตอนการขนย้ายผลฟักทองมายังโรงคัดบรรจุโดยรถยนต์มีการสูญเสียรวมร้อยละ 61.1 ซึ่งตำหนิที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นเกิดจากรอยขีดข่วนบนผิวของผลฟักทองทั้งสิ้น (พิเชษฐ์และคณะ, 2557)

สาเหตุของการสูญเสียที่เกิดขึ้นจำแนกได้ ดังนี้

ก. สาเหตุการสูญเสียทางกล เช่น การเกิดรอยขีดข่วนที่ผิว การเกิดบาดแผลจากการทิ่มตำ รอยถลอกบริเวณผิว และรอยช้ำจากการกดทับหรือกระแทก เป็นต้น

ข. สาเหตุการสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เช่น การสูญเสียน้ำระหว่างการขนย้ายบริเวณขั้วผล เป็นต้น

ค. สาเหตุการสูญเสียจากการเข้าทำลายของโรคและแมลง เช่น การเข้าทำลายของไวรัส หนอนเจาะผล และโรคไส้เน่า เป็นต้น

ในกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลฟักทองญี่ปุ่นพบสาเหตุขของการสูญเสียมากที่สุด คือ การเกิดรอยขีดข่วนบริเวณผิวของผลฟักทองญี่ปุ่น นอกจากนั้น ยังพบว่าหากผลฟักทองญี่ปุ่นที่มีบาดแผลเกิดจากการทิ่มแทงผลจนเป็นแผลถึงเนื้อและมีน้ำยางไหลจะไม่สามารถขายได้เนื่องจากหลังการเก็บรักษาจะมีอาการเกิดโรคผลเน่าเกิดขึ้น

กระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลฟักทองญี่ปุ่น

กระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลฟักทองญี่ปุ่นที่ปฏิบัติในปัจจุบันในแต่ละขั้นตอนไม่สามารถป้องกันสาเหตุของการสูญเสียที่เกิดจากรอยขีดข่วนได้ อาจเป็นเพราะวิธีการจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว วิธีการขนย้าย การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับการขนย้ายที่ไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น วิธีการเก็บเกี่ยวผลฟักทองญี่ปุ่นเกษตรกรใช้กรรไกรหรือมีดปลายแหลมในการตัดขั้วผล ทำให้มีโอกาสเกิดรอยขีดข่วนจากคมมีด บนผิวผลฟักทองได้ง่ายในช่วงการเก็บเกี่ยว ในขั้นตอนการขนย้ายผลฟักทองญี่ปุ่นจากแปลงปลูกมายังจุดรวบรวม ทำโดยการใส่ผลฟักทองลงในถุงกระสอบพลาสติกจำนวนประมาณ 15-20 ผล น้ำหนักประมาณ 25-30 กิโลกรัม ทำให้มีน้ำหนักมาก ผลของฟักทองเบียดและเสียดสีกัน (รูปที่ 2A) อีกทั้งการบรรจุผลฟักทองโดยการอัดจนแน่นในภาชนะบรรจุจึงทำให้เกิดอาการช้ำได้ นอกจากนั้น การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทกระสอบพลาสติกในการเก็บรวบรวมและการขนย้ายผลฟักทองไปยังจุดต่างๆ มีการลากกระสอบจนกระสอบขาด (รูปที่ 2B) ในขณะที่การขนส่งใช้รถบรรทุกบนถนนที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูง เป็นถนนดินลูกรังสลับกับลาดยางและสภาพถนนมีความขรุขระเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การขนย้ายผลิตผลมีความยากลำบากและทำให้ผลฟักทองกระทบกระเทือน จากการกระแทกกัน จนเกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย (รูปที่ 2) เช่นเดียวกับรายงานผลการวิจัยที่พบว่ากระบวนการขนส่งผลิตผลเกษตรทำให้เกิดความเสียหายกับผลิตผลเป็นอย่างมากเนื่องจากการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์และการจัดเรียงผลิตผลภายในรถบรรทุกที่ใช้ขนส่งไม่เหมาะสม ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมักเกิดจากแรงกระแทก การกระทบกระเทือนระหว่างผลิตผลกับบรรจุภัณฑ์หรือระหว่างตัวผลิตผลเอง และอาจถูกสัมผัสกับของมีคมอื่นๆ นอกจากการขนส่งจะทำให้เกิดความเสียหายแล้ว การจัดวางผลิตผลจำนวนมากทำให้น้ำหนักชั้นบนกดทับลงมายังชั้นล่างมากเกินไปส่งผลทำให้เกิดการช้ำและการปริแตกของผลิตผลได้เช่นกัน (Kitinoja and Kader, 1995 และ อุราภรณ์และคณะ, 2546)

การรวบรวมและการขนส่งผลฟักทองญี่ปุ่น

ทั้งนี้  การสูญเสียของผลฟักทองญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวเป็นต้นมานั้น สามารถแยกการสูญเสียตามลักษณะที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

1. การสูญเสียที่พบตั้งแต่ในแปลงปลูก เกิดขึ้นในขั้นตอนการเพาะปลูกการดูแลรักษาตั้งแต่ก่อนการเก็บเกี่ยว มักเกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ เกิดจากการเข้าทำลายของโรค เช่น โรคที่เกิดจากไวรัส (รูปที่ 3A) การเข้าทำลายของหนอนและแมลงตั้งแต่ในแปลงปลูก เช่น หนอนเจาะขั้วผล (รูปที่ 3B) ผิวของผลฟักทองถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลาย (รูปที่ 3C)  รวมถึงอาการผิดปกติของผลฟักทองที่ไม่สมบูรณ์ (รูปที่ 3D) เป็นต้น

การสูญเสียที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการเก็บเกี่ยว

2. การสูญเสียที่พบหลังการเก็บเกี่ยว พบว่าเกิดจากสาเหตุทางกลเป็นส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของผลฟักทองญี่ปุ่น เช่น การเกิดรอยขีดข่วนที่เกิดจากของมีคม (รูปที่ 4A)  รอยขีดข่วนหรือรอยช้ำที่เกิดจากการกระแทก รอยถลอกที่เกิดจากการลากถูหรือเสียดสีกันระหว่างผล (รูปที่ 4B)  การเข้าทำลายของโรคและแมลงหลังการเก็บเกี่ยว (รูปที่ 4C)  รอยแผลจากการถูกของแข็งทิ่มแทงผล (รูปที่ 4D)

การสูญเสียที่เกิดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยว

คุณภาพของผลฟักทองญี่ปุ่นที่ผู้ซื้อยอมรับได้ คือผลฟักทองที่มีคุณภาพสมบูรณ์ดี ผู้ซื้อจะไม่รับซื้อผลฟักทองที่มีการสูญเสียในลักษณะต่างๆ มากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ผิวทั้งหมด ไม่รับซื้อผลฟักทองญี่ปุ่นที่มีการเข้าทำลายของไวรัส รวมถึงไม่รับซื้อผลฟักทองที่มีลักษณะเกิดแผลสดจากการทิ่มแทงจนมียางไหล ซึ่งส่งผลให้บริเวณแผลดังกล่าวถูกเชื้อเข้าทำลายได้ง่าย และทำให้เกิดโรคเน่าและมีโอกาสทำให้ฟักทองผลอื่นๆ เกิดความเสียหายได้ จึงทำให้ผู้ซื้อไม่ต้องการ

ดังนั้น การลดการสูญเสียของผลฟักทองญี่ปุ่นจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน คือ แก้ไขเรื่องการสูญเสียที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในแปลงปลูกและการสูญเสียที่เกิดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยว โดยคัดเลือกผลที่ไม่ได้คุณภาพออกจากผลฟักทองที่ปกติ และปรับปรุงกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของผลฟักทองญี่ปุ่นในแต่ละขั้นตอน เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดจากการทิ่มแทงและรอยแผลต่างๆ โดยการใช้วัสดุหุ้มผลเพื่อลดการกระแทก การเสียดสี เพื่อลดโอกาสในการเกิดบาดแผลและเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเพื่อลดการสูญเสียของผลฟักทองตลอดสายโซ่อุปทานนั้น สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตผลฟักทองที่มีคุณภาพดีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ปลูกมีรายได้สูงขึ้น และลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง

  • จิราภา เหลืองอรุณเลิศ.  2554.   บรรจุภัณฑ์ผักผลไม้ สถาบันอาหาร, [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา: http://www.nfi.or.th/food-technology-news/food-technology-news-thai.html)   (20 กันยายน 2554)
  • สังคม  เตชะวงค์เสถียร.  2542.  วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวของพืช. เอกสารคําสอนวิชาหลักการผลิตพืช (Principle of Crop Production), ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  • พิเชษฐ์ น้อยมณี ปาริชาติ เทียนจุมพล  กุลริศา เกตุนาค  รุ่งนภา ไกลถิ่น  และดนัย บุณยเกียรติ. 2557. การประเมินการสูญเสียของผลฟักทองญี่ปุ่นในกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว. วารสารวิทยาศาสตรเกษตร ปีที่ 45 ฉ. 3/1 (พิเศษ) หน้าที่ 277-280.
  • อุราภรณ์ สอาดสุด วิชชา สอาดสุด และโสภณ สิงห์แก้ว.  2546.  การประเมินความเสียหายของส้มในกลุ่มส้มเขียวหวานหลังการเก็บเกี่ยว.  วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 34 ฉบับที่ 4-6 (พิเศษ). 2546. หน้า 76-79.
  • Anonymous. 1978. Post-harvest losses in developing countries. National Academy of Sciences. Washington, DC. 202 pp.
  • Kitinoja, L. and Kader, A.A. 2002 Small-scale postharvest handling practices: a manual for horticultural crops. 4th ed. University of California Postharvest Horticulture Series No. 8E. 267 pp.
  • Snowdon, A. 1990. A color atlas of post-harvest diseases and disorders of fruits and vegetables, Volume 1. General Introduction and Fruits. Wolf Scientific publication, London, UK. 302 pp.