การยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวลองกองเพื่อการส่งออก

โดย … ศาสตราจารย์ ดร. จริงแท้ ศิริพานิช

ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ลองกอง เป็นผลไม้เขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดและแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในท้องถิ่น ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศรู้จักลองกองมากขึ้น ทำให้มีความต้องการโดยเฉพาะจากประเทศจีน ในอดีตมีผู้พยายามส่งออกลองกองไปยังตลาดกวางเจาทางเรือ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากปัญหาการหลุดร่วงของผลเมื่อถึงตลาดปลายทาง

ลองกอง

การศึกษาวิจัยหลังการเก็บเกี่ยวลองกองทำให้พบว่า บริเวณการหลุดร่วงของลองกองมี 2 ตำแหน่งคือ บริเวณระหว่างผลกับจุก และระหว่างจุกกับช่อผล ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการหลุดร่วงแตกต่างกันออกไประหว่าง 2 บริเวณนี้ ในบริเวณระหว่างผลกับจุก การหลุดร่วงเกิดจากแรงภายนอกที่กระทำต่อผลบนช่อลองกองหลังการเก็บเกี่ยวระหว่าง การคัดขนาด คัดคุณภาพ และการบรรจุ ทำให้ผลหลุดบริเวณนี้และส่วนจุกยังคงติดค้างอยู่กับช่อผล ส่วนการหลุดร่วงบริเวณระหว่างจุกกับก้านช่อผล มีก๊าซเอทิลีนเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นให้เซลล์บริเวณนี้อ่อนแอและหลุดร่วงจากช่อผลได้โดยไม่ต้องมีแรงจากภายนอกมากระทำ

ระหว่างการขนส่ง ลองกองภายในภาชนะปิด เช่นกล่อง หรือตะกร้า จะเกิดการสะสมก๊าซเอทิลีนขึ้นภายใน โดยเฉพาะในสภาพการขนส่งที่ปิดมิดชิด เช่น การขนส่งในตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือ ก๊าซเอทิลีนดังกล่าวตัวผลลองกองสร้างขึ้นมาเอง หากไม่ระบายออกจะทำให้ผลหลุดร่วงได้ง่าย ดังนั้นระหว่างการขนส่งทางไกล จำเป็นต้องกำจัดก๊าซเอทิลีนออกจากภาชนะบรรจุ ซึ่งอาจทำได้โดยใช้ด่างทับทิมละลายน้ำแล้วชุบบนวัสดุที่มีโครงสร้างเป็นรูพรุน เช่น อลูมินัมออกไซด์, เพอร์ไลท์, ก้อนปูน ฯลฯ หลังจากนั้นจึงบรรจุด่างทับทิมไว้ในภาชนะบรรจุลองกองเพื่อกำจัดก๊าซเอทิลีนออกไป นอกจากนั้นแล้วยังอาจช่วยให้บริเวณการหลุดร่วงของลองกองทั้ง 2 ตำแหน่ง แข็งแรงกว่าปกติได้ โดยการใช้ฮอร์โมนพืชช่วย ได้แก่ ออกซิน ในรูปของ NAA ความเข้มข้น 200 ppm จุ่มแช่ช่อลองกองนาน 3 นาที หรือใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช 1-MCP (1-Methyl cyclopropene) รมช่อลองกองด้วยความเข้มข้น 1000 ppb เป็นเวลา 6 ชั่วโมง

การปฏิบัติข้างต้นให้ผลดีในการยืดอายุลองกอง แต่เป็นเพียงผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ การค้าขายส่งออกจริง มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ซับซ้อนมากกว่าการทดลองในห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันนักวิจัยกำลังขยายผลงานในอดีต โดยจะทำการศึกษาในระดับการค้า ในฤดูกาลลองกองช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ หากประสบผลสำเร็จก็น่าจะทำให้ลองกองขยายตลาดได้มากขึ้น ราคาลองกองก็จะสูงขึ้น และเกษตรกรได้ผลตอบแทนสูงขึ้น และไม่เปลี่ยนไปปลูกยางพารากันจนหมด