การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการป้องกันการสูญเสียของข้าว

โดย จีรพร ศรีวัฒนานุกูลกิจ

ลดการสูญเสียก่อนการเก็บเกี่ยว

การดูแลรักษาให้พืชผลเจริญงอกงามดี เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งเกษตรกรมีวิธีป้องกันและกำจัดโรคหรือศัตรูข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีฉีดพ่น เช่น

การใช้พืช นำผลส้มโอ(หรือเปลือก)หรือแตงโม มาฝานเป็นกลีบๆ เอาไปเสียบไม้ปักเป็นระยะๆ หรือเอาใบมะไฟหักเป็นก้านๆ เหน็บไม้แล้วเอาไปปักเรียงจากหัวนาไปหางนา หรือเอายาสูบผสมน้ำใส่กระบอกฉีดไปทั่วๆ การระบาดของเพลี้ย-บั่วอาจจะหยุดได้ นอกจากนั้นถ้าข้าวเป็นโรคใบเหลืองแห้งตายใช้ลูกหมากหนัง(เป็นไม้ยืนต้น ผลมีรสเปรี้ยวจะออกผลในช่วงฤดูฝน) เอามาสับให้ละเอียดนำไปหว่านหรือฝังเป็นจุดๆ ทั่วไร่

การใช้เสียง นอกจากคนคอยส่งเสียงไล่แล้ว ยังมีเครื่องมือที่ใช้ไล่นก-หนู เช่น การทำเกราะไล่นกพลังลมนำไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้ การเอาไม้ใส่ข้างในกระป๋องหรือปี๊บที่มีลักษณะคล้ายที่แขวนคอสัตว์ไปแขวนไว้ที่ทุ่งนา เมื่อมีลมพัดจะเกิดเสียงดัง หรือการนำไม้ไผ่มาผ่าแล้วอาจใช้เชือกดึงหรือใช้มือง้างแล้วปล่อยให้กระทบกันเกิดเสียงดัง เป็นต้น

การใช้ปริมาณน้ำ เมื่อมีเพลี้ยมารบกวนจะปล่อยน้ำให้ขังไว้ในนาจนกว่าเพลี้ยจะหมดไป ถ้าเกิดโรคใบไหม้จะงดให้น้ำในแปลงที่เกิดโรค เพราะถ้างดน้ำแล้วจะทำให้โรคใบไหม้หายไป ต้นข้าวจะกลับมาดีเหมือนเดิม

การใช้เครื่องดักสัตว์ เครื่องมือดักสัตว์ที่ใช้มีหลายชนิด เช่น เกิ้งหรือแร้ว ด้วงหรือหล้วง ขะตั๊ม ขุบ ฯลฯ

การใช้กลิ่น การเผาเศษไม้เพื่อให้มีกลิ่นควันไฟ หรือการเอากระดูกหมูหรึ่งมาเผา นอกจากข้าวจะงามแล้วยังใช้ป้องกันแมลงได้ด้วย หรือเอาหน่อไม้ดองจำนวนเล็กน้อยวางกับพื้นดินเป็นจุดๆ ที่มด ปลวกกินหรือเจาะต้นข้าว

การใช้ควัน ถ้ามีมด เพลี้ยหรือบั่ว หรือแมลงอื่นๆ จะก่อกองไฟหลายๆ กองให้มีควัน แมลงเหล่านั้นจะค่อยๆ หายไปเอง

นอกจากนั้นยังมีวิธีการอื่นๆ อีก เช่น การจุดตะเกียงเจ้าพายุในตอนกลางคืน แล้วเอาใบตองกล้วยมาทาน้ำมันมัดแขวนไว้ แมลงก็จะบินมาติดที่ใบตองนั้น บางคนใช้ไม้เสียบหนูให้ตายแล้วเอาไปปักที่นาหรือตามทางที่หนูเดิน หนูจะไม่มารบกวนอีก การทำหุ่นไล่กา การเอากระดาษหลากสีหรือแถบเทปคลาสเซทผูกกับเชือกไปแขวนไว้ เมื่อลมพัดกระดาษหรือแถบเทปจะปลิวไปมา นกจะบินหนีไป เป็นต้น

การป้องกันการกำจัดเศษฟางและข้าวลีบ

หลังจากที่นวดข้าวแล้ว ในกองข้าวเปลือกจะมีทั้งเศษฝุ่น เศษฟางข้าว และข้าวลีบปะปนอยู่ ก่อนนำไปเก็บในยุ้งข้าวหรือในถุง เกษตรกรจะขจัดสิ่งที่ยังปะปนอยู่กับข้าวเปลือกออกไปก่อน ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “พัดข้าว” การพัดข้าวมักจะทำโดยการตักข้าวแล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ ในขณะเดียวกันก็จะใช้เครื่องมือ เช่น พัดขนาดใหญ่ (ปัจจุบันมีการดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าสะพายไหล่ โดยนำใบพัดของพัดลมไฟฟ้าไปติดตั้งแทนใบเลื่อยที่ใช้ตัดหญ้า แล้วเดินเครื่อง ใบพัดก็จะหมุนเป่าลมออกมา) หรือพัดลมไฟฟ้า พัดให้สิ่งที่ปะปนอยู่นั้นซึ่งมักจะมีน้ำหนักเบาปลิวออกไป ส่วนข้าวเปลือกก็จะตกลงยังพื้นที่รองรับ

ส่วนการพัดข้าวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บนดอยหลายกลุ่มมีวิธีการที่แตกต่างออกไป โดยจะอาศัยแรงลมธรรมชาติช่วยพัดแทนการใช้เครื่องมืออื่นๆ คือเมื่อจะขจัดสิ่งที่ปะปนในข้าวเปลือกออกไป จะตั้งเสาทำเป็นบันไดหรือการปีนขึ้นไปบนต้นไม้ วันไหนที่เห็นว่ามีลมพัดก็จะนำข้าวใส่กระบุงแบกขึ้นไปบนบันไดหรือต้นไม้ แล้วเทข้าวลงมา ลมจะช่วยพัดสิ่งที่ปะปนอยู่กับข้าวเปลือกออกไป

การลดการสูญเสียจากการนวดหรือตีข้าว

ความก้าวหน้าของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยการใช้รถเกี่ยวข้าว ซึ่งจะเกี่ยวข้าวและแยกข้าวเปลือกออกจากรวงไปในเวลาเดียวกัน แม้ว่าจะสะดวกและรวดเร็วกว่าวิธีที่เคยทำมาแต่ดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย และมีโอกาสสูญเสียข้าวเปลือกในขณะเก็บเกี่ยวค่อนข้างมาก เนื่องจากพบว่ามีข้าวข้าวเปลือกจำนวนไม่น้อยที่ตกกระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่นา หากเกษตรกรไม่ไปเก็บก็จะสูญเสียข้าวเปลือกจำนวนดังกล่าวไปได้

ในขณะที่การนวดหรือการตีข้าวในแบบดั้งเดิมจะทำในพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งรองรับข้าวเปลือก เช่น การใช้ครุ การใช้เสื่อขนาดใหญ่(ปัจจุบันอาจใช้ผ้าใบแทน) ปูที่พื้น การอุดรูรั่วของพื้นดินโดยการใช้มูลของวัว-ควายทาบริเวณที่จะนวดข้าว แล้วจึงนวดข้าว ข้าวเปลือกก็จะตกอยู่บนสิ่งที่รองรับนั้น

วิธีการนวดข้าวแบบดั้งเดิมอาจใช้วัว-ควายหรือคนเหยียบย่ำ การใช้มือรูด หรือการฟาดข้าวไปบนสิ่งที่นำมารองรับ เช่น เสื่อ ครุ แคร่ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่นช่วยทุ่นแรง เช่น การนำไม้ไผ่หรือรากไม้ไผ่มาทำไม้ตีข้าว และเมื่อมีเศษรวงข้าวที่ยังมีข้าวเปลือกติดค้างอยู่ซึ่งจะตกอยู่ในพื้นที่นวดข้าว ก็จะใช้ไม้ตีหรือการนำเค็ดมะพร้าวมาครูดให้ข้าวเปลือกหลุดออกไป ข้าวเปลือกที่ได้ก็จะตกอยู่ในวัสดุที่ใช้รองรับนั้นหรือหากข้าวกระเด็นออกไปบ้างในขณะที่นวดข้าวก็เพียงเล็กน้อย

การลดการสูญเสียข้าวเปลือกจากเชื้อรา แมลง และหนู

หลายพื้นที่โดยเฉพาะบนดอยสูงสามารถปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้ง แต่ละปีเกษตรกรหลายคนอาจเก็บเกี่ยวข้าวได้ไม่มากนัก ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะเก็บรักษาผลผลิตข้าวไว้ให้ได้ปริมาณมากและนานวัน เพื่อให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคไปจนกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ในปีต่อไป

สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกก็คือ การลดความชื้นของข้าว เพราะหากเก็บข้าวที่ยังมีความชื้นสูงจะทำให้ข้าวขึ้นราได้ เริ่มจากการนำข้าวที่เกี่ยวแล้วไปตากแดดให้แห้ง โดยทั่วไปการตากข้าวมักจะวางตากบนตอข้าวตามทุ่งนาต่างๆ แต่ในบางพื้นที่จะทำราวไม้ไผ่เป็นชั้นๆ ขึ้นไป แล้วนำข้าวที่เกี่ยวแล้วมาวางพาดบนราวนั้น วิธีการนี้นอกจากทำให้ข้าวเปลือกแห้งเร็วและใช้พื้นที่ไม่มากแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้หนูปีนขึ้นไปกินข้าวได้ การตากโดยใช้ราวนี้บางคนนำไปใช้ในการตากผลผลิตชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด เป็นต้น

พืชผักบางชนิดยังช่วยไม่ให้ข้าวเปลือกขึ้นราและไม่มีกลิ่นเหม็น เช่น ผักปิง เอาใบและดอกของผักปิงแห้งขยี้ปนไปกับข้าวเปลือกในยุ้งหรือในถุงที่เก็บข้าวเปลือก ใบ “ก้อมก้อ” สดทั้งกิ่งและใบใส่ในกองข้าว

นอกจากความชื้นและเชื้อราแล้ว สัตว์จำพวกมด มอด นกและหนูก็มีส่วนในการทำความเสียหายให้กับข้าวปลือกเช่นกัน โดยทั่วไปในพื้นที่ชนบทภาคเหนือตอนบนเกษตรกรมักจะเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งข้าว บางคนจะนำพริกแห้ง ใบสะเดา ข่า หรือใบจันหักเป็นก้านๆ ใส่ในยุ้ง เพื่อป้องกันแมลงและมอด ส่วนยุ้งข้าวซึ่งมักสร้างเป็นอาคารยกพื้นสูง ควันจากการก่อไฟหุงต้มอาหารใต้ถุนยุ้งข้าว จะช่วยไล่แมลงออกไปจากยุ้งข้าว หรือแม้กระทั่งเสาของยุ้งข้าวที่เป็นเส้นทางให้มดและหนูเข้าไปในยุ้งข้าวได้ บางคนใช้ยางไม้ตึงหรือน้ำมันขี้โล้ราดที่เสายุ้งข้าวเพื่อป้องกันไม่ได้สัตว์เหล่านั้นขึ้นไปบนยุ้งข้าว บางคนใช้ขี้เถ้าโรยรอบเสายุ้งข้าว หรือใช้เศษผ้าหรือสังกะสีหรือพลาสติกพันรอบเสา แม้กระทั่งกาบไม้ไผ่ที่หาได้ในท้องถิ่นก็สามารถนำมาพันรอบเสาได้เช่นกัน เพราะความลื่นของกาบไม้ไผ่ทำให้มดหรือหนูไต่ขึ้นไปบนยุ้งไม่ได้ เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังประหยัดเงินแทนการไปหาซื้อวัสดุอื่นมาใช้

ที่มา : ผลการวิจัยโครงการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่