การพัฒนาเครื่องแยกผลจากทะลายปาล์มน้ำมันสำหรับกลุ่มเกษตรกร

โครงการวิจัย “การพัฒนาเครื่องแยกผลจากทะลายปาล์มน้ำมันสำหรับกลุ่มเกษตรกร” (หัวหน้าโครงการ : ผศ.จำลอง ปราบแก้ว ผู้ร่วมวิจัย : ดร.จารุวัตร เจริญสุข และอาจารย์ปัญญา แดงวิไลลักษณ์) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว.ภายใต้ชุดโครงการวิจัยปาลม์น้ำมัน ได้พัฒนาและประดิษฐ์เครื่องแยกผลปาล์มออกจากทะลายสดปาล์มน้ำมันสำเร็จเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย ซึ่งทางชุดโครงการฯ ได้มีการจัดให้มีการแสดงสาธิตการใช้เครื่องและประสิทธิภาพของเครื่องแยกผลปาล์มดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2545 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร โดยมีผู้าทรงคุณวุฒิ และผู้ประกอบการทั้งเกษตรกรและนักวิชาการของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบเข้าร่วมชมการสาธิต จำนวน 10 ท่าน ผลการสาธิตการใช้เครื่องและประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องเป็นที่พอใจอย่างมากต่อผู้เข้าร่วมชมการสาธิต และได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า หากเครื่องแยกผลปาล์มดังกล่าวสามารถนำออกมาเผยแพร่และผลิตออกจำหน่าย จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร นิคมสหกรณ์/สหกรณ์นิคมต่างๆ ลานเทรับซื้อผลผลิต (พ่อค้าคนกลาง) และผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ

เครื่องแยกผลปาล์มออกจากทะลายสดปาล์มน้ำมันนี้จัดเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เครื่องต้นแบบมีประสิทธิภาพกำลังการผลิตอย่างน้อย 4 ทะลาย (20 กก./ทะลาย) ใช้เวลาแยกผลปาล์ม ประมาณ 30 วินาที จะได้ผลปาล์มที่แยกแล้วประมาณ 65 กก./30 วินาที หรือ 130 กก./นาที หรือ 7,800 กก./ชั่วโมง

ผลกระทบของเครื่องแยกผลปาล์มออกจากทะลายสดปาล์มน้ำมันนี้มีประโยชน์หลายด้าน เช่น

ประโยชน์ต่อเกษตรกร

  1. ลดต้นทุนในการขนส่งวัตถุดิบ (ผลผลิต) เข้าสู่โรงงานสกัดน้ำมัน เช่น ลดค่าแรงงานและน้ำมันเชื้อเพลิง
  2. ลดค่าแรงงานในการทำผลปาล์มร่วงของเกษตรกรกลุ่มเกษตรกร ลานเทรับซื้อผลผลิต และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ
  3. เกษตรกรขายผลผลิตในรูปผลปาล์มร่วงได้ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการขายผลผลิตทั้งทะลายสด
  4. ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันที่ได้หลังจากแยกผลปาล์มออกแล้ว เกษตรกรสามารถนำมาใช้คลุมโคนต้นปาล์มน้ำมัน เพื่ออนุรักษณ์ความชื้นและเพิ่มธาตุอาหารให้กับดินที่ปลูกปาล์มน้ำมันอยู่แล้ว

ประโยชน์ต่อโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ

  1. ลดปัญหาการเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มดิบเพื่อส่งโรงงานทำให้สามารถยกระดับผลผลิตปริมาณน้ำมันดิบที่สกัดได้โดยรวมของประเทศสูงขึ้น
  2. ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของโรงงานสกัดน้ำมัน ซึ่งเป็นผลมาจากเศษเหลือของทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันภายหลังกระบวนการสกัดน้ำมัน
  3. ลดการใช้พลังงานในกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มของโรงงานสกัด
  4. โรงงานสกัดน้ำมันสามารถสกัดน้ำมันปาล์มได้มากและเร็วขึ้น ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาผลผลิตทะลายล้นโรงงานในช่วงที่มีผลผลิตทะลายปาล์มออกสู่ตลาดมาก

ผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือที่สำนักงานชุดโครงการฯ

ที่มา : จดหมายข่าวปาล์มน้ำมัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 เดือนธันวาคม 2545-กุมภาพันธ์ 2546