บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารประกอบฟอสเฟตต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาใบผักกาดขาวที่อุณหภูมิต่ำ

อินทิรา ลิจันทร์พร กิตติชัย ไกรพา วนิดา ศรีสัมฤทธิ์ และชูเกียรติ มณีวงศ์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 299-302. 2558.

2558

บทคัดย่อ

การศึกษาผลของสารประกอบฟอสเฟตต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของผักกาดขาวที่อุณหภูมิต่ำ โดยนำผักกาดขาวมาแยกใบออก ทำความสะอาดด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ที่ความเข้มข้น 200 ส่วนในล้านส่วน และจุ่มในสารประกอบฟอสเฟต 3 ชนิด  คือ  sodium hexameta phosphate (SHMP) sodium tripolyphosphate  (STPP)  และ tetrasodium  pyrophosphate  (TSPP)  แต่ละชนิดใช้สารละ  2  ความเข้มข้น  คือ  ความเข้มข้น  0.5%  และ 1.0%  จุ่มนาน 1 นาที วางในถาดโฟมที่หุ้มด้วยฟิล์มพลาสติกชนิด low linear density polyethylene และ เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 8+ 2  องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา  7 วัน  ตัวอย่างที่ไม่จุ่มในสารฟอสเฟต ใช้เป็นชุดควบคุม ทำการวิเคราะห์การสูญเสียน้ำหนัก ค่าสี ความแน่นเนื้อ พีเอช ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ สารฟอสเฟสที่ตกค้าง ปริมาณแบคทีเรียทั้งหมด เชื้ออีโคไล และคุณภาพทางประสาทสัมผัส จากผลการทดลองพบว่า ผักกาดขาวที่จุ่มในสารละลายฟอสเฟตความเข้มข้น STPP 0.5 และ1.0% และ TSPP 0.5% มีการสูญเสียน้ำหนักน้อยกว่าผักกาดขาวที่จุ่มในสาร SHMP ที่ทั้งสองความเข้มข้น  การใช้สารละลายฟอสเฟตช่วยรักษาสีและความแน่นเนื้อของผักกาดขาวได้ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม  ผักที่จุ่มใน STPP 0.5% มีปริมาณเชื้อ E. coli น้อยที่สุด (0.77 log cfu/g) ในวันที่ 7 ผักกาดขาวที่จุ่ม SHMP 0.5% มีคะแนนการยอมรับโดยรวมสูงที่สุดในวันแรก และไม่พบความแตกต่างระหว่างผักกาดขาวที่จุ่มและไม่จุ่มฟอสเฟตในวันสุดท้ายของการเก็บรักษา