บทคัดย่องานวิจัย

การใช้สารเมทิลจัสโมเนตและกรดซาลิไซลิกเพื่อลดอาการสะท้านหนาวในพุทราพันธุ์บอมแอปเปิล

พัฒนศักดิ์ ตันบุตร เฉลิมชัย วงษ์อารี วาริช ศรีละออง สุริยัณห์ สุภาพวานิช และพนิดา บุญฤทธิ์ธงไชย

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 17-19. 2558.

2558

บทคัดย่อ

ผลพุทรา (Zizyphus mauritiana Lamk.) หลังจากเก็บเกี่ยวหากเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องจะมีการเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำก็สามารถทำให้ผลิตผลเขตร้อนและกึ่งร้อน เช่น พุทรา เกิดความเสียหายจากอาการผิดปกติทางสรีรวิทยา ที่เรียกว่า อาการสะท้านหนาว ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การใช้สารเมทิลจัสโมเนตและกรดซาลิไซลิกเพื่อลดอาการสะท้านหนาวของผลพุทราระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ นำผลพุทราพันธุ์บอมแอปเปิลมาจุ่มในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) เมทิลจัสโมเนต 0.5, 1.0 และ 2.0 มิลลิโมลาร์ หรือ กรดซาลิไซลิก 0.5, 1.0 และ 2.0 มิลลิโมลาร์ เป็นเวลา 5 นาที ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส จากนั้นนำไปใส่ตะกร้าพลาสติกคลุมด้วยถุงพอลิเอทิลีน เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส โดยบันทึกผลการทดลองทุกวัน พบว่า ในวันที่ 5 หลังการเก็บรักษา ชุดควบคุมมีคะแนนการเกิดอาการสะท้านหนาวและการสูญเสียน้ำหนักสดสูงที่สุด (CI score 2.58 และ 3.77%) เมื่อเปรียบเทียบกับพุทราที่จุ่มเมทิลจัสโมเนตความเข้มข้น 0.5 มิลลิโมลาร์ (CI score 1.29 และ 2.83%) และกรดซาลิไซลิกความเข้มข้น 1.0 มิลลิโมลาร์ (CI score 1.50 และ 2.53%) ซึ่งมีประสิทธิภาพดีที่สุดในการชะลออาการสะท้านหนาว สีของผิวพุทราในทุกวิธีการทดลองมีการเปลี่ยนแปลงจากสีเขียวเป็นสีเขียวเหลือง โดยเปลือกพุทรามีค่า L* chroma และ hue ลดลงหลังการเก็บรักษา ในขณะที่ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ และความแน่นเนื้อไม่แตกต่างกันทางสถิติในทุกวิธีการ