บทคัดย่องานวิจัย

ผลของกรดออกซาลิกและเมทิลจัสโมแนสต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของใบโหระพาระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ

อินทิรา ลิจันทร์พร นันท์ชนก นันทะไชย และ ปาลิดา ตั้งอนุรัตน์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 52 (2 พิเศษ): 111-114. 2564.

2564

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกรดออกซาลิก และเมทิลจัสโมแนสต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของใบโหระพา โดยทำการจุ่มใบโหระพาในกรดออกซาลิกหรือเมทิลจัสโมแนสความเข้มข้น 6 มิลลิโมลาร์ เป็นเวลา 5 นาที และเปรียบเทียบกับโหระพาที่ไม่จุ่มสารละลาย (ชุดควบคุม) ผึ่งให้แห้ง บรรจุในถุงพสาสติกโพลีเอทิลีน และนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 8+2 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 8 วัน ศึกษาค่าสีเขียว (-a*) ปริมาณคลอโรฟิลล์ทั้งหมด ดัชนีการเหี่ยว อาการสะท้านหนาว การสูญเสียน้ำหนัก มาลอนไดอัลดีไฮด์ (MDA) เอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดส (PPO) และเอนไซม์เพอร์ออกซิเดส (POD) พบว่าใบโหระพาที่จุ่มด้วยกรดออกซาลิกหรือเมทิลจัสโมแนสชะลอการเปลี่ยนสีเขียว (-a*) ดัชนีการเหี่ยว อาการสะท้านหนาว และการสูญเสียน้ำหนักเมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม โหระพาที่จุ่มด้วยกรดออกซาลิกหรือเมทิลจัสโมแนสมีปริมาณคลอโรฟิลล์สูงกว่าชุดควบคุมในวันที่ 8 ของการเก็บรักษา กิจกรรมของเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดส และเพอร์ออกซิเดส และปริมาณมาลอนไดอัลดีไฮด์ของใบโหระพาที่จุ่มด้วยกรดออกซาลิกหรือเมทิลจัสโมแนสมีค่าต่ำกว่าชุดควบคุม การจุ่มด้วยเมทิลจัสโมแนสให้ผลดีที่สุดในการลดอาการสะท้านหนาว ดัชนีการเหี่ยว การสูญเสียน้ำหนัก และกิจกรรมของเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดสระหว่างการเก็บรักษา การใช้เมทิลจัสโมแนสมีประสิทธิภาพในการรักษาคุณภาพของใบโหระพาได้นานถึง 8 วันเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ โดยชุดที่จุ่มด้วยเมทิลจัสโมแนสมีอายุการเก็บรักษาสูงสุด 8 วัน ขณะที่ชุดที่จุ่มด้วยกรดออกซาลิกและชุดควบคุมมีอายุเพียง 6 และ 4 วัน ตามลำดับ