บทคัดย่องานวิจัย

ผลของเอทิฟอนต่ออาการสะท้านหนาวของผลกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้าระหว่างและหลังเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ

กิตติ ไสยวรรณ และ วชิรญา อิ่มสบาย

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 299-302 (2554)

2554

บทคัดย่อ

ผลของเอทิฟอนต่ออาการสะท้านหนาวของผลกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้าระหว่างและหลังเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ

 

การศึกษาผลของเอทิลีนต่ออาการสะท้านหนาวในกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้า โดยแช่กล้วยทั้งสองพันธุ์ในสาร ละลายเอทิฟอนความเข้มข้น 500 mg/Lและไม่แช่สารสะลายเอทิฟอน (ชุดควบคุม) ก่อนนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4°C  เป็นเวลา 10 วัน แล้วย้ายผลกล้วยมาวางที่อุณหภูมิ 25°Cทุก 2วัน และตรวจวัดคุณภาพผลกล้วย ทุก 2 วัน หลังการย้ายผลมาวางที่อุณหภูมิ 25°Cพบว่าชุดควบคุมเกิดอาการสะท้านหนาวมากกว่าผลกล้วยที่แช่สารละลายเอทิฟอนทั้งในระหว่างเก็บรักษาและเมื่อย้ายไปวางที่อุณหภูมิ 25°C   ผลกล้วยทั้งที่แช่และไม่แช่สารละลายเอทิฟอนก่อนเก็บรักษามีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ ทั้งหมด (TSS)ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TA)ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด (TS)ความแน่นเนื้อของเปลือกและเนื้อ อัตราการหายใจ และการผลิตเอทิลีน ไม่เปลี่ยนแปลงระหว่างเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ แต่เมื่อย้ายผลกล้วยไปวางไว้ที่อุณหภูมิ 25°Cพบว่าผลกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้าที่แช่สารละลายเอทิฟอนมีปริมาณ TSS, TA, TS,อัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนเพิ่มขึ้น  ในขณะที่ความแน่นเนื้อของเปลือกและเนื้อลดลงมากกว่าชุดควบคุม  กล้วยทั้งสองพันธุ์ที่แช่สารละลายเอทิฟอนก่อนการเก็บรักษาเมื่อย้ายมาวางที่อุณหภูมิ 25°C  มีการพัฒนาสีเปลือกได้ดีกว่าผลกล้วยที่ไม่แช่สารละลายเอทิฟอน   อาจสรุปได้ว่าการให้เอทิฟอน (เอทิลีน) กับผลกล้วยก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำสามารถลดการสะท้านหนาวในกล้วยทั้งสองพันธุ์ได้