บทคัดย่องานวิจัย

การตรวจการปนเปื้อน Salmonella spp. ด้วย เทคนิค PCR และคัดแยกสายพันธุ์ในกระบวนการผลิตผักสดเพื่อการส่งออก

วิภาวดี อ้นท้วม พรเพ็ญ มรกตจินดา วราภา มหากาญจนกุล และ นิภา โชคสัจจะวาที

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 568-571 (2553)

2553

บทคัดย่อ

การตรวจการปนเปื้อน Salmonella spp. ด้วย เทคนิค PCR และคัดแยกสายพันธุ์ในกระบวนการผลิตผักสดเพื่อการส่งออก

 

อุบัติการณ์การปนเปื้อนของเชื้อ Salmonella spp. ในผักสดเพื่อการส่งออกในปี 2005 มีผลกระทบต่อโรงงานผักสดส่งออกตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูก สร้างความไม่เชื่อมั่นในสินค้าและเข้มงวดในการตรวจสอบเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศผู้ซื้อสินค้า การพัฒนาตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Salmonella spp. ในโหระพาเพื่อการส่งออกและปัจจัยแวดล้อมจากแปลงผลิตผักจังหวัด นครปฐม โดยเทคนิค PCR ร่วมกับเทคนิค MPN เปรียบเทียบกับวิธีการตรวจสอบตามปกติ พบว่า โหระพาก่อนล้าง หลังล้างและหน้าโรงงาน จำนวนชนิดละ 10ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนจากเชื้อ Salmonella spp. ร้อยละ 60, 100 และ 40 ตามลำดับ และจำแนกได้ซีโรไทป์Hvittingfoss (group I) จากตัวอย่าง โหระพาก่อนล้าง ในขณะที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย Salmonella spp. ในสิ่งแวดล้อม ได้แก่  ดิน ปุ๋ยและน้ำที่ใช้ในระหว่างกระบวนการเพาะปลูก จำนวนชนิดละ 15ตัวอย่าง รวมถึง ถุงมือ จำนวน 8 ตัวอย่าง โต๊ะตัดแต่ง จำนวน 6 ตัวอย่าง และ กรรไกรที่ใช้ตัดแต่ง จำนวน 5 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของเชื้อร้อยละ 33.33, 26.67, 53.33, 87.5, 100 และ 60 ตามลำดับ และจำแนกซีโรไทป์ Bovismorbificans (group C) และ Aberdeen (group F) ได้จาก ถุงมือ และโต๊ะตัดแต่ง ตามลำดับ จาก 94 ตัวอย่าง เมื่อตรวจหาเชื้อด้วยเทคนิค PCR พบการปนเปื้อนคิดเป็น ร้อยละ 56.38 ในขณะที่การตรวจด้วยวิธีดั้งเดิมพบการปนเปื้อนเพียง ร้อยละ 4.25