บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการอบแห้งต่อสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดและฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของผักติ้ว มะระขี้นก มะกอก และฟ้าทะลายโจร

อุษา ถวิลรักษ์ นเรศ มีโส และ ศิริธร ศิริอมรพรรณ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 560-563 (2553)

2553

บทคัดย่อ

ผลของการอบแห้งต่อสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดและฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของผักติ้ว มะระขี้นก มะกอก และฟ้าทะลายโจร

การศึกษาอิทธิพลของการอบแห้งด้วยไมโครเวฟ และการอบแห้งด้วยเตาอบลมร้อนต่อสารประกอบฟีนอลิก   และฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของผักติ้ว (Gratoxylum formosum (Jack.))มะระขี้นก(Momordica charantia L.)  มะกอก (Spondias pinnata Kurz) และฟ้าทะลายโจร(Andrographis paniculata (Burm. F) Wall. ex Nees)สำหรับเงื่อนไขของการอบแห้งที่ศึกษา  ได้แก่ การอบแห้งด้วยไมโครเวฟที่กำลังไฟฟ้า 600 และ800 W และ อบด้วยลมร้อนที่ อุณหภูมิ 40 และ60 องศาเซลเซียส โดยทำการศึกษาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมด (total phenol content : TPC)และฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ    ด้วยวิธี DPPH radical scavenging activity  และวิธี Ferric-reducing power : FRAP และ จากการศึกษาพบว่า การทำแห้งด้วยความร้อนทั้งไมโครเวฟ และการอบลมร้อนทำให้ TPCและฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของผักติ้ว มะระขี้นก และมะกอกลดลงแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (≤0.05)  เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างสด โดยค่า FRAP, TPC และ DPPH ในตัวอย่างผักติ้ว มะระขี้นก และมะกอกที่อบด้วยลมร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสมีค่าต่ำสุด รองลงมาคือการอบแห้งด้วยไมโครเวฟ 800 w, อบด้วยลมร้อนอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส และการอบแห้งด้วยไมโครเวฟ 600 w ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบการอบด้วยลมร้อนที่อุณหภูมิที่แตกต่างกัน พบว่าการใช้   อุณหภูมิต่ำช่วยรักษาความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าการใช้อุณหภูมิสูง เช่นเดียวกันกับการทำแห้งด้วยไมโครเวฟการใช้กำลังไฟฟ้าต่ำดีกว่าการใช้กำลังไฟฟ้าสูงที่เวลาการอบเดียวกัน  แต่เมื่อเปรียบเทียบผลของการอบแห้ง  ฟ้าทะลายโจรด้วยวิธีเช่น เดียวกัน พบว่าฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของฟ้าทะลายโจรเมื่ออบแห้งที่อุณหภูมิสูง และกำลังไฟฟ้าที่สูงจะมีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น