บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเคลือบผิวด้วยไคโตซานต่อปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมด ลิกนิน และแทนนินของผลพริกหวานในระหว่างการเก็บรักษา

ธนาภรณ์ ศรีศิริพันธุ์, จำนง อุทัยบุตร และกอบเกียรติ แสงนิล

กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า

2551

บทคัดย่อ

ผลของการเคลือบผิวด้วยไคโตซานต่อปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมด ลิกนิน และแทนนินของผลพริกหวานในระหว่างการเก็บรักษา

                เมื่อนำผลแก่จัดของพริกหวานสองพันธุ์ คือ พันธุ์ Torcal และพันธุ์ Gold Frame มาเคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 0.5, 1.0 และ 1.5%แล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 25°ซ ความชื้นสัมพัทธ์ 82%เป็นเวลา 15 วัน ทำการวัดปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมด ลิกนิน และแทนนินของตัวอย่างผลทุกๆ 3 วัน ในช่วงการเก็บรักษา พบว่าการเคลือบผิวผลด้วยไคโตซานมีผลเพิ่มปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมด ลิกนิน และแทนนินในผลทั้งสองพันธุ์ โดยผลที่เคลือบด้วยไคโตซาน 1.0 และ 1.5%มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมด ลิกนิน และแทนนินสูงกว่าในผลที่เคลือบผิวด้วย 0.5%ไคโตซานและชุดควบคุมที่ไม่เคลือบผิว ทั้งนี้การเคลือบผิวด้วยไคโตซาน 1.0 และ 1.5%ให้ผลไม่แตกต่างกันในเรื่องปริมาณสารประกอบเหล่านี้ ในผลที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานทั้งสองพันธุ์พบว่าสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมดมี ปริมาณเพิ่มขึ้นในระหว่าง 6 วันแรกของการเก็บรักษาหลังจากนั้นมีปริมาณคงที่ ส่วนลิกนินและแทนนินก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกันในช่วงที่เก็บรักษาเป็นเวลา 9 และ 6 วัน ตามลำดับ หลังจากนั้นสารประกอบทั้งสองนี้มีปริมาณลดต่ำลงตลอดการเก็บรักษา