บทคัดย่องานวิจัย

วิธีการทดสอบเพื่อประเมินความช้ำของแอปเปิ้ลจากการกระแทกและเปรียบเทียบวัสดุกันช้ำ

ศุภกิตต์ สายสุนทร

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 112 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

วิธีการทดสอบเพื่อประเมินความช้ำของแอปเปิ้ลจากการกระแทกและเปรียบเทียบวัสดุกันช้ำ

งานวิจัยนี้เพื่อพัฒนาวัสดุกันกระแทกที่เหมาะสมห่อหุ้มผลแอปเปิ้ลสดทดแทนตาข่ายโฟม (Foam net) สำหรับการขนส่งและการจำหน่าย  การศึกษาประกอบด้วย  ก) การปรับปรุงเครื่องทดสอบการกระแทกแบบ Ballistic Pendulum กับผลแอปเปิ้ลพันธ์ฟูจิ นำเข้าจากประเทศจีนทั้ง 2 ขนาด (เบอร์ 80 และ 100) ห่อด้วยวัสดุกันกระแทกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม, ข) การทดสอบการกระแทกด้วยเครื่อง Ballistic Pendulum ได้แก่ เชือกกล้วย, ผักตบชวา, กระดาษลูกฟูกหน้าเดียว, กระดาษลูกฟูกสองผนัง แบบใหม่และใช้แล้ว และวัสดุที่เป็นที่นิยมใช้  แต่ย่อยสลายยาก  คือ  ตาข่ายโฟม  การทดสอบการกระแทกแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ  การทดสอบก่อนเกิดการช้ำ (Below threshold) และการทดสอบหลังเกิดการช้ำ (Beyond threshold), ค) การเลือกวัสดุกันกระแทกที่เหมาะสมในการปกป้องผลแอปเปิ้ลจากการกระแทก ผลการศึกษาปรากฏว่า เครื่องทดสอบการกระแทกประกอบด้วย  1.) ตุ้มน้ำหนัก ขนาด  3.8 กิโลกรัม, 2.) ฐานรองผลไม้, 3.) แผ่นวัดมุม, 4.) Laser Diode, 5.) เชือกยาว  0.45 เมตรและ 6.) โครงเหล็ก สามารถวัดได้ทั้งพลังงานกระแทก และพลังงานดูดกลืน สามารถปรับตั้งพลังงานได้ละเอียดถึง 0.05 จูล  สำหรับการทดสอบหลังเกิดการช้ำ ปริมาตรช้ำ VB ของผลแอปเปิ้ลเปล่าแปรผันตรงกับพลังงานกระแทก Ei อย่างดีมาก (R2 = 0.98) สำหรับการทดสอบก่อนเกิดการช้ำ โอกาสการเกิดการช้ำ  P แปรเป็นสัดส่วนกับพลังงานกระแทกได้ดีสำหรับแอปเปิ้ลเปล่า และแอปเปิ้ลที่ห่อหุ้มด้วยกระดาษลูกฟูก (R2 = 0.96) พลังงานที่จุดเริ่มเกิดรอยช้ำ (Threshold Energy, โอกาสเกิดรอยช้ำ = 1) สำหรับผลแอปเปิ้ลเปล่า, ผลแอปเปิ้ลห่อด้วยตาข่ายโฟม, กระดาษลูกฟูกหน้าเดียวหันลอนเข้าหาผลไม้, กระดาษลูกฟูกหน้าเดียวหันลอนออกจากผลไม้, กระดาษลูกฟูก  สองผนังใหม่  และกระดาษลูกฟูกสองผนังใช้แล้ว เป็น 0.105, 0.475, 0.725, 0.75, 0.7, 0.7 จูล สำหรับแอปเปิ้ล   ทั้งสองขนาด วัสดุกันกระแทกที่เหมาะสมที่สุดคือ กระดาษลูกฟูกหน้าเดียวแบบหันลอนออกจากผลแอปเปิ้ล   ที่มีพลังงานที่จุดเริ่มเกิดรอยช้ำรอยช้ำสูงสุด และพลังงานดูดกลืนสูงสุด = 0.11 จูล/ตารางเซนติเมตร  จากการทดสอบการกดแบบเกือบสถิต (Quasi-static Compression) ความต้านทานการช้ำที่กำหนดโดยความชันของกราฟ  Ei-VB  เท่ากับ 1595.3  ลูกบาศก์มิลลิเมตร/จูล และ 1748.1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร/จูล สำหรับแอปเปิ้ลขนาด 100 และ 80 ตามลำดับเชือกกล้วย และผักตบชวา ที่ถูกนำมาสานเป็นตาข่าย ไม่สามารถปกป้องผลแอปเปิ้ลได้ เพราะบริเวณจุดตัดของวัสดุที่นำมาถักสร้างปมทำให้เกิดการกระแทกแบบ Plunger และเกิดการช้ำได้ง่าย และหลาย  รอยช้ำจากการกระแทกเพียงครั้งเดียว