บทคัดย่องานวิจัย

ผลการเคลือบผิวด้วยไคโตซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72

พิมพ์ใจ สีหะนาม

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2548. 154หน้า.

2548

บทคัดย่อ

ผลการเคลือบผิวด้วยไคโตซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72

การศึกษาผลการเคลือบผิวด้วยไคโตซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72โดยการเคลือบผิวผลสตรอเบอรี่ด้วยไคโตซานความเข้มข้น 0.5, 1.0, 1.5 และ 2.0 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคลือบผิว และจุ่มในน้ำกลั่น แล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง (25องศาเซลเซียส) ความชื้นสัมพันธ์ 80 เปอร์เซ็นต์ ผลสตรอเบอรี่ที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 1.5 และ 2.0 เปอร์เซ็นต์ มีลักษณะปรากฏดีที่สุด และมีการเข้าทำลายของเชื้อราน้อยที่สุด ผลสตรอเบอรี่ที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 2.0 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณวิตามันซีและของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้สูงกว่า แต่มีปริมาณแอนโทไซยานินต่ำกว่าผลสตรอเบอรี่ที่ไม่เคลือบผิว และมีแนวโน้มว่าการเคลือบผิวด้วยไคโตซานสามารถลดการสูญเสียความแน่นเนื้อและอัตราการหายใจได้ดีกว่าการที่ไม่เคลือบผิว ผลสตรอเบอรี่ที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคลือบผิว และจุ่มในน้ำกลั่น แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพันธ์ 81 เปอร์เซ็นต์, 5 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพันธ์ 82 เปอร์เซ็นต์ และ 10องศาเซลเซียสความชื้นสัมพันธ์ 86 เปอร์เซ็นต์ ผลการทดลองพบว่า ผลสตรอเบอรี่ที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0 และ 5 องศาเซลเซียสมีลักษณะปรากฏดีกว่า มีการเข้าทำลายของเชื้อรา และการสูญเสียน้ำหนักน้อยกว่าผลสตรอเบอรี่ที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ10องศาเซลเซียส การเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0 และ 5 องศาเซลเซียสสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีผิว สีเนื้อ ปริมาณวิตามินซี แอนโทไซยานิน และอัตราการหายใจได้ดีกว่าการเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ10องศาเซลเซียส ผลสตรอเบอรี่ที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ มีลักษณะปรากฏดีกว่า มีการเข้าทำลายของเชื้อราน้อยกว่า มีปริมาณแอนโทไซยานินและของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้สูงกว่าผลสตรอเบอรี่ที่ไม่เคลือบผิวและจุ่มในน้ำกลั่น แต่มีความแน่นเนื้อต่ำกว่าผลสตรอเบอรี่ที่ไม่เคลือบผิว ผลสตรอเบอรี่ที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานมีอัตราการหายใจต่ำกว่าผลที่ไม่เคลือบผิว ผลสตรอเบอรี่ที่ปลูกเชื้อด้วยสปอร์ของเชื้อรา Rhizopus sp. ความเข้มข้น 3 x 105 สปอร์/มิลลิลิตร และการเคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0องศาเซลเซียสความชื้นสัมพันธ์ 81 เปอร์เซ็นต์ มีการเน่าเสียน้อยกว่าและมีกิจกรรมของเอนไซม์ไคติเนสสูงกว่าผลสตรอเบอรี่ที่ปลูกเชื้อด้วยสปอร์ของเชื้อรา Rhizopus sp. ความเข้มข้น 3 x 105 สปอร์/มิลลิลิตร แต่ไม่ได้เคลือบผิวด้วยไคโตซาน