บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพทางกายภาพและเคมีของข้าวกล้องและข้าวนึ่งพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จากแหล่งปลูกจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์

สุรัตน์ นักหล่อ และ กฤษณา โยนสนิท

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 389-392.

2551

บทคัดย่อ

คุณภาพทางกายภาพและเคมีของข้าวกล้องและข้าวนึ่งพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จากแหล่งปลูกจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์

การศึกษาคุณภาพทางกายภาพและคุณภาพทางเคมีของข้าวขาวดอกมะลิ 105 จากแหล่งปลูกจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ซึ่งปลูกในเดือนกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน 2548 โดยข้าวจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเมล็ดข้าวกล้องที่ไม่ผ่านกระบวนการทำข้าวนึ่ง ส่วนกลุ่มที่ 2 นำไปผ่านกระบวนการทำข้าวนึ่งก่อนที่จะทำการกะเทาะและเก็บรักษาเป็นเวลา 3 เดือน ทำการศึกษาที่ภาควิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 วางแผนการทดลองแบบ 2 x 2 Factorial ใน CRD จำนวน 3 ซ้ำ ประกอบด้วย 2 ปัจจัย ปัจจัยที่ 1 คือ แหล่งปลูก 2 แหล่ง ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ ปัจจัยที่ 2 คือ ชนิดของข้าว ได้แก่ ข้าวกล้อง และข้าวนึ่ง แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 การทดลอง ประกอบด้วย การตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพของเมล็ดข้าวกล้องและข้าวนึ่ง ผลการศึกษาพบว่า ขนาดความกว้าง ความยาวและความหนาของข้าวจากทั้ง 2 แหล่งไม่มีความแตกต่างกัน แต่ความยาวและความหนาของเมล็ดข้าวนึ่งมีค่าสูงกว่าข้าวกล้อง และข้าวนึ่งให้ค่าสีแดงและค่าสีเหลืองสูงกว่า การวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีเมล็ดข้าวกล้องและข้าวนึ่ง พบว่าปริมาณไขมันของข้าวกล้องมีค่ามากว่าข้าวนึ่งแต่ปริมาณโปรตีนและเส้นใยของข้าวนึ่งมีค่าสูงกว่าข้าวกล้อง การเก็บรักษาข้าวกล้องและข้าวนึ่งที่อุณหภูมิห้องและที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส พบว่าปริมาณไขมันมีค่าสูงขึ้นเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง ส่วนปริมาณเส้นใยเมื่อเก็บรักษาทั้ง 2 สภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา