บทคัดย่องานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลมะพร้าวน้ำหอมก่อนและภายหลังการเก็บเกี่ยว

ธีรนุต ร่มโพธิ์ภักดิ์ และสมนึก ทองบ่อ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 99-102.

2551

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลมะพร้าวน้ำหอมก่อนและภายหลังการเก็บเกี่ยว

การศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลมะพร้าวน้ำหอม อายุ 22 สัปดาห์ ถึง 25สัปดาห์หลังดอกบาน จากสวนใน อ.บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงฤดูร้อน (เมษายน-มิถุนายน) พบว่า ปริมาณเนื้อ ความหนาเนื้อ ความแน่นเนื้อ และน้ำหนักแห้งของเนื้อมะพร้าวเพิ่มขึ้นตามอายุของผล ส่วนน้ำมะพร้าวมีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) เพิ่มขึ้น และปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TA) ลดลง อัตราส่วนของ TSS/TA มากกว่า 95 เมื่อผลมีอายุตั้งแต่ 23 สัปดาห์ และได้รับคะแนนความชอบ ความหอม และความหวาน สูงเมื่อผลมีอายุตั้งแต่ 24 สัปดาห์ นอกจากนี้ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลมะพร้าวน้ำหอม อายุ 22 สัปดาห์และ 25 สัปดาห์ พบว่าผลมะพร้าวมีอัตราการหายใจต่ำประมาณ 30 mgCO2/kg.hr และค่อย ๆ ลดลง ตลอดการเก็บรักษา 12 วันที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส  การผลิตเอทิลีนเริ่มต้นประมาณ 0.25 mlC2H4/ kg.hr จากนั้นผันแปรไม่แน่นอน  แต่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังวันที่ 7 ของการเก็บรักษา โดยผลที่มีอายุมากกว่ามีอัตราการหายใจ   และการผลิต เอทิลีนสูงกว่าผลที่มีอายุน้อยกว่า  เมื่อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในระหว่างการเก็บรักษาของมะพร้าวทั้ง 2 อายุ พบว่า น้ำมะพร้าว มี glucose ประมาณ 2 % โดยน้ำหนัก คิดเป็น 50 % ของน้ำตาลทั้งหมด รองลงมาได้แก่ fructose  และ sucroseตามลำดับ  น้ำมะพร้าวจากผลที่อายุมากมีปริมาณ sucroseสูงกว่า    ทำให้น้ำตาลทั้งหมดมากกว่าผลที่อายุน้อย  ส่วนเนื้อมะพร้าว มีน้ำตาล sucrose เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาได้แก่ glucoseและ fructose  โดยผลที่มีอายุมากกว่ามี sucrose น้อยกว่าผลที่อายุน้อย