บทคัดย่องานวิจัย

ความเสถียร การเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์การต้านเชื้อจุลินทรีย์ และเซลล์มะเร็งของสารสกัดบัวกลุ่มอุบลชาติ

สมนึก ยิ้มย่อง

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 127 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

ความเสถียร การเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์การต้านเชื้อจุลินทรีย์ และเซลล์มะเร็งของสารสกัดบัวกลุ่มอุบลชาติ

งานวิจัยนี้ได้นำสารสกัดจากดอกบัวในกลุ่มอุบลชาติ 4 พันธุ์คือ ฉลองขวัญ (Nymphaea ‘King of Siam’) เรดแฟลร์ (N. ‘Red Flare’) สุธาสิโนบลสีชมพู (N. capensis var zanzibariansis  pink) และสุธาสิโนบลสีน้ำเงิน (N. capensis var zanzibariansis blue) มาศึกษาความเสถียรของแอนโทไซยานิน เมื่อบ่มในสารละลายบัฟเฟอร์ pH 1.0, 3.0, 5.0, 7.0, 9.0และ 11.0 ในที่มืดที่อุณหภูมิ 25 °C เปรียบเทียบกับสารสกัดจากเปลือกองุ่นและดอกอัญชัญ โดยพบว่าสารสกัดแอนโทไซยานินจากกลีบบัวทุกพันธุ์ที่บ่มในบัฟเฟอร์ pH 1.0 และ pH 3.0เท่านั้นที่ยังคปรากฏตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา 28 วัน แต่การบ่มสารสกัดในบัฟเฟอร์ pH 3.0ทำให้ค่าการดูดกลืนแสงของแอนโทไซยานินลดลงตามระยะเวลาการเก็บรักษา ซึ่งมีรูปแบบการดูดกลืนแสงของสารสกัดจากกลีบดอกบัวคล้ายกับสารสกัดจากองุ่น ส่วนสารสกัดจากดอกอัญชัญคงตัวได้ดีแม้บ่มใน pH สูงๆ สารสกัดจากกลีบดอกบัวทั้ง 4 พันธุ์และจากใบบัวเรดแฟลร์มีปริมาณสารประกอบฟีนอล แอนโทไซยานิน กิจกรรมในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อวิเคราะห์ด้วยวิธี Ferric Reducing Antioxidant Power(FRAP) และวิธี 2,2-diphenyl -1-picryldrazyl radicals   (DPPH)   ที่แตกต่างกัน   โดยสารสกัดจากกลีบดอกบัวพันธุ์เรดแฟลร์มีปริมาณสารประกอบฟีนอล แอนโทไซยานิน และกิจกรรมในการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH มากที่สุด ในขณะที่สารสกัดจากกลีบดอกบัวพันธุ์สุธาสิโนบลสีชมพูให้ผลดีกับวิธี FRAPซึ่งสารสกัดจากกลีบดอกบัวทั้ง 4 พันธุ์ ที่ความเข้มข้น 500 mg/L และสารสกัดจากใบบัวพันธุ์เรดแฟลร์ที่ความเข้มข้น 1,000 mg/L มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับสารต้านอนุมูลอิสระสังเคราะห์ butylated hydroxytoluene (BHT) ที่ความเข้มข้น 200 mg/Lส่วนสารสกัดจากกลีบดอกบัวพันธุ์เรดแฟลร์ที่ความเข้มข้น 1,500 mg/L มีความสามารถในการยับยั้งอนุมูลอิสระร้อยละ 50 ได้ดีที่สุด นอกจากนี้การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ของสารสกัดจากกลีบดอกบัวทั้ง 4 พันธุ์ ทำโดยวิธี agar dilution พบว่าสารสกัดจากกลีบดอกบัวทั้งหมดสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกันได้ 10 สายพันธุ์โดยเฉพาะเชื้อ Acinetobacter,Staphylococus,Streptococcus, และ Bacillus cereus สารสกัดจากกลีบดอกบัวพันธุ์เรดแฟลร์สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในคนได้มากที่สุด 16 สายพันธุ์ โดยให้ผลดีที่สุดกับเชื้อ Acinetobacter lowffii ATCC 15309, Salmonella dysenteriae DMST 15111และ Staphylococcus epidermidis ATCC 12228 ที่ค่า minimum inhibitory concentration (MIC) 31 ไมโครกรัมต่อลิตร ถึงแม้ว่าสารสกัดจากกลีบดอกบัวทั้ง 4 พันธุ์ และสารสกัดจากใบบัวพันธุ์เรดแฟลร์ไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งช่องปาก (KB-Oral cavity cancer) ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ แต่สารสกัดจากกลีบดอกบัวพันธุ์เรดแฟลร์มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม (MCF7-breat cancer) และเซลล์มะเร็งปอดได้ (NCI-H187-Small cell lung cancer) ได้ดี