บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลความแก่ใบ ความเข้มแสง และอุณหภูมิต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารเอเซียติโคไซด์และคุณภาพบัวบก (Centella asiatica (L.) Urban.)

จิรพันธ์ ศรีทองกุล

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 99 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

อิทธิพลความแก่ใบ ความเข้มแสง และอุณหภูมิต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารเอเซียติโคไซด์และคุณภาพบัวบก (Centella asiatica (L.) Urban.)

บัวบกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าCentella asiatica (L.) Urbanจัดอยู่ในวงศ์ Umbelliferae เป็นพืชผักสมุนไพรที่มีคุณค่าการเป็นวัตถุดิบทางเภสัชอุตสาหกรรม สารสำคัญที่พบมากที่สุดในบัวบกคือ สารเอเซียติโคไซด์ มีฤทธิ์ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น แผลเปื่อย โรคเรื้อน เป็นต้น แต่ยังไม่มีการศึกษาการเกษตรกรรมมากนัก ดังนั้นจึงทำการศึกษาอายุใบและระดับความเข้มแสงต่อการเจริญเติบโต ปริมาณสารเอเซียติโคไซด์ และคุณค่าทางอาหารของบัวบก 3 สายต้น ได้แก่ สายต้นนครศรีธรรมราช, สายต้นระยอง และ สายต้นอุบลราชธานี โดยทำการทดลองที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตั้งแต่ปี 2548 ถึง ปี 2552 ผลการทดลองพบว่าพื้นที่ใบของบัวบกจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุใบจนกระทั่งอายุ 28 วัน หลังจากแตกใบใหม่ หลังจากนั้นใบบัวบกจะไม่เพิ่มขนาดแต่จะมีการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองบางส่วน สายต้นนครศรีธรรมราชมีขนาดใบใหญ่ที่สุดรองลงมาคือ สายต้นอุบลราชธานีและสายต้นระยอง ตามลำดับ การวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของบัวบกศึกษาปริมาณไฟเบอร์ โปรตีน แคลเซียม แบต้าแคโรทีน และสารเอเซียติโคไซด์เพิ่มขึ้นตามอายุใบ การพรางแสงทำให้บัวบกทุกสายต้นมี ความยาวก้านใบ พื้นที่ใบ และปริมาณคลอโรฟิลล์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเข้มแสงเต็มที่บังบกทุกสายต้นมีผลผลิตน้ำหนักสด น้ำหนักแห้งมากกว่าการพรางแสง ความเข้มแสงเต็มที่ มีการสะสมปริมาณโปรตีน และสารเอเซียติโคไซด์เพิ่มขึ้น  ในขณะที่การสะสมแคลเซียมและ             แบต้าแคโรทีนลดลง  การทดลองนี้พบว่าสายต้น อายุใบ ความเข้มแสง มีอิทธิพลต่อปริมาณสารเอเซียติโคไซด์และคุณค่าทางอาหารของบัวบก โดยสายต้นอุบลราชธานีมีปริมาณสารเอเซียติโคไซด์สูงสุด การเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องหรือที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส สามารคงปริมาณสารเอเซียติโคไซด์ได้