บทคัดย่องานวิจัย

ผลของอัตราส่วนของตัวทำละลายและวิธีการสกัดสารประกอบฟีนอลิคจากแกลบต่อคุณสมบัติการต้านออกซิเดชัน

จีระวัฒน์ นามทัศน์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีการอาหาร) คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 94 หน้า. 2553.

2553

บทคัดย่อ

ผลของอัตราส่วนของตัวทำละลายและวิธีการสกัดสารประกอบฟีนอลิคจากแกลบต่อคุณสมบัติการต้านออกซิเดชัน

การสกัดสารต้านออกซิเดชันธรรมชาติจากแกลบข้าว 2 พันธุ์ คือ กข 6 และขาวดอกมะลิ 105 โดยใช้ตัวทำละลายเอธานอลและน้ำในอัตราส่วนที่ต่างกัน พบว่า สามารถสกัดสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมด (total phenolic contents; TPC) จากแกลบ กข 6 ได้มากกว่าจากแกลบหอมดอกมะลิ 105(1.23 และ 1.14 มก.กรดแกลลิค/กรัมแกลบผง ตามลำดับ) (p £ 0.05) แต่มีกิจกรรมการต้านอนุมูล DPPH (DPPHradical scavenging activities(RSA)) ไม่แตกต่างกัน (p > 0.05)   อัตราส่วนของเอธานอลต่อน้ำ 60:40 ให้ปริมาณ TPC (1.44 มก.กรดแกลลิค/กรัมแกลบผง)และค่า RSA สูงสุด (ร้อยละ 50.9) แต่ไม่แตกต่างจากการสกัดโดยใช้อัตราส่วน 50:50(1.32  มก.กรดแกลลิค/กรัมแกลบผง และร้อยละ 49.8ตามลำดับ)  สารที่สกัดได้จากการใช้ตัวทำละลายผสมที่อัตราส่วนต่างๆ (TPC0.72-1.52 มก.กรดแกลลิค/กรัม)มีประสิทธิภาพยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของกรดลิโนลีอิคแตกต่างจากสารกันหืนสังเคราะห์บีเอชทีร้อยละ 0.1 อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05)  

การใช้กรด 2 ชนิด คือ กรดไฮโดรคลอริกและกรดซัลฟูริกที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ  2.5   5  และ 10 ในการย่อยแกลบ กข 6 ก่อนการสกัดสารต้านออกซิเดชันด้วยตัวทำละลายเอธิลอะซีเตท  พบว่าการย่อยด้วยกรดไฮโดรคลอริกให้สารสกัดที่มีค่า TPC และค่า RSAสูงกว่าการใช้กรดซัลฟูริก (p£0.05)  และเพิ่มขึ้นเมื่อความเข้มข้นของกรดเพิ่มขึ้น   การใช้กรดไฮโดรคลอริก (ร้อยละ 5 และ 10) ตามด้วยเอนไซม์จีซี 220เซลลูเลส (ร้อยละ 0 5 และ 10 โดยน้ำหนักตัวอย่าง) ในการย่อยแกลบทั้งสองพันธุ์ พบว่า การย่อยด้วยกรดไฮโดรคลอริกร้อยละ 10สกัดสารประกอบฟีนอลิคได้สูงสุด (1.80-1.95 มก.กรดแกลลิค/กรัมแกลบผง) และมีค่า RSA สูงสุด (ร้อยละ 42.8-45.7)    สารสกัดจากแกลบ กข 6 ที่ย่อยด้วยกรดไฮโดรคลอริกร้อยละ 5ตามด้วยการใช้เอนไซม์ (ร้อยละ 0และ 5)ให้ผลการยับยั้งการเกิดเปอร์ออกซิเดชันของกรดลิโนลีอิคสูงสุด (ร้อยละ 61.29-62.85) และไม่แตกต่างจากสารกันหืนสังเคราะห์บีเอชที (ร้อยละ 0.1) (p>0.05) 

เมื่อทำการเปรียบเทียบปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมดและค่ากิจกรรมการต้านออกซิเดชัน (เทียบกับโทรล็อกซ์ (trolox))ของสารสกัดทั้งหมดที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีการต่างๆ พบว่า สารสกัดจากแกลบโดยการย่อยด้วยกรดไฮโดรคลอริกร้อยละ 10ตามด้วยการใช้เอนไซม์ทั้ง  3 ระดับ ให้ปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมด (1.72-1.95 มก.กรดแกลลิค/กรัมแกลบผง)  และค่ากิจกรรมการต้านออกซิเดชัน (1.21-1.30  มิลลิโมลาร์โทรลอกซ์/กรัมแกลบผง) ไม่แตกต่างกัน (p>0.05) แต่สูงกว่าการสกัดด้วยวิธีอื่นๆ (p£0.05)

การเติมสารสกัดจากแกลบที่ผ่านการย่อยด้วยกรดไฮโดรคลอริกร้อยละ 10   ที่มีสารประกอบฟีนอลิค 5  10 และ 20 ส่วนในล้านส่วน  อัลฟา-โทโคเฟอ รอลอะซีเตทร้อยละ 0.1 และ บีเอชเอร้อยละ 0.02    ลงในเนื้อหมูบดขึ้นรูปสุก เก็บที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15 วัน พบว่า อัตราการลดลงของค่า TBARS(เทียบกับตัวอย่างควบคุม) ของสารสกัดจากแกลบและโทโคฟีรอลอะซีเตทอยู่ในช่วงร้อยละ 19.8-22.2  (p>0.05)  ซึ่งมีค่าต่ำกว่าตัวอย่างที่เติมบีเอชเอร้อยละ 0.02  (ร้อยละ 65.94) อย่างมีนัยสำคัญ  แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากแกลบแสดงประสิทธิภาพการต้านออกซิเดชันในเนื้อหมูขึ้นรูปได้ใกล้เคียงกับโทโคฟีรอลอะซีเตทแต่ด้อยกว่าสารกันหืนสังเคราะห์