บทคัดย่องานวิจัย

การควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อรา Aspergillus flavus ด้วยสารสกัดจากพืชและผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานในระหว่างการเก็บรักษา

สร้อยสุดา อุตระกูล

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 2552.

2552

บทคัดย่อ

การควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อรา Aspergillus flavus ด้วยสารสกัดจากพืชและผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานในระหว่างการเก็บรักษา

เชื้อรา Aspergilus  flavus เป็นเชื้อราที่พบมากในโรงเก็บซึ่งทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเมล็ดพันธุ์อย่างรวดเร็วและเมื่อนำเมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูกจะทำให้ความงอกต่ำและส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตที่ลดลง การควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อราด้วยสารสกัดจากพืชจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชเพื่อยับยั้งเชื้อรา A. flavus ที่แยกได้จากเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานและผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน โดยนำพืชและส่วนที่เหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ ใบฝรั่ง เมล็ดมะละกอ ดอกกระดุมทองเลื้อย ใบกระดุมทองเลื้อย และเมล็ดส้มมาสกัดด้วยวิธีการต้มกลั่น (hydrodistillation) และสกัดด้วยตัวทำละลาย (solvent extraction) 2ชนิด (แอลกอฮอล์ 95เปอร์เซ็นต์และปิโตรเลียมอีเทอร์) แล้วนำมาทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นใยและการงอกของสปอร์เชื้อรา A. flavus โดยวิธี agar dilution method ที่ความเข้มข้น 500 1,000 5,000และ 10,000พีพีเอ็ม เปรียบเทียบกับชุดควบคุม 2ชุด (0พีพีเอ็ม และ DMSO 0.5เปอร์เซ็นต์) พบว่า สารสกัดจากเมล็ดมะละกอที่สกัดด้วยวิธีการต้มกลั่นที่ความเข้มข้น 500พีพีเอ็มขึ้นไปและที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95เปอร์เซ็นต์ ที่ความเข้มข้น 10,000พีพีเอ็ม และสารสกัดเมล็ดส้มด้วยวิธีการต้มกลั่น ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 5,000พีพีเอ็ม มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นใยและการงอกสปอร์ของเชื้อรา A. flavus ได้อย่างสมบูรณ์ ได้นาน 7วัน และ 24ชั่วโมง ตามลำดับ   เมื่อตรวจสอบลักษณะทางสัณฐานของเชื้อรา A. flavus ที่เจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อราที่ผสมสารสกัดจากพืชได้แก่ 1) สารสกัดจากเมล็ดมะละกอด้วยแอลกอฮอล์ 95เปอร์เซ็นต์ ที่ความเข้มข้น 5,000พีพีเอ็ม  2) สารสกัดจากดอกกระดุมทองเลื้อยด้วยวิธีการต้มกลั่น ที่ความเข้มข้น 5,000พีพีเอ็ม และ 3) สารสกัดจากใบกระดุมทองเลื้อยด้วยวิธีการต้มกลั่น ที่ความเข้มข้น 10,000พีพีเอ็ม ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด พบว่า บริเวณปลายก้านชูสปอร์ของเชื้อราที่เจริญในอาหารที่มีสารสกัดจากดอกกระดุมทองเลื้อยด้วยวิธีการต้มกลั่น ที่ความเข้มข้น 5,000พีพีเอ็ม และสารสกัดจากใบกระดุมทองเลื้อยด้วยวิธีการต้มกลั่น ที่ความเข้มข้น 10,000พีพีเอ็ม สามารถยับยั้งการสร้างสปอร์ได้บางส่วน ส่วนสารสกัดเมล็ดมะละกอด้วยแอลกอฮอล์ 95เปอร์เซ็นต์ ที่ความเข้มข้น 5,000พีพีเอ็ม ทำให้ก้านชูสปอร์มีลักษณะแบน 

เมื่อนำ 1) สารสกัดจากเมล็ดมะละกอด้วยวิธีการต้มกลั่นความเข้มข้น 500 พีพีเอ็ม 2) สารสกัดเมล็ดมะละกอด้วยแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซ็นต์ ความเข้มข้น 10,000 พีพีเอ็ม 3) สารสกัดจากดอกกระดุมทองเลื้อยด้วยวิธีการต้มกลั่น ความเข้มข้น 10,000 พีพีเอ็ม และ 4) สารสกัดจากใบกระดุมทองเลื้อยด้วยวิธีการต้มกลั่น ความเข้มข้น 10,000 พีพีเอ็ม มาพ่นบนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานแล้วบรรจุในถุงซิบพลาสติกชนิด    โพลีโพรไพลีนเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง (28±2 องศาเซลเซียส) เป็นเวลา 14 วัน พบว่า สารสกัดจากพืชที่นำมาทดสอบทั้งหมดสามารถชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อราในระหว่างการเก็บรักษาได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยสารสกัดจากพืชข้างต้นไม่มีผลต่อเปอร์เซ็นต์ความงอก ดัชนีการงอกและปริมาณกรดไขมันอิสระของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานเมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม เมื่อพิจารณาประสิทธิภาพและต้นทุนของสารสกัดจากพืชทั้งหมด พบว่าสารสกัดจากเมล็ดมะละกอที่สกัดด้วยวิธีการต้มกลั่นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้เพื่อการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อราบนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานในระหว่างการเก็บรักษา