บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารฆ่าเชื้อและสารลดแรงตึงผิวในการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ดั้งเดิม และ Salmonella ในผักสดต่างชนิดกัน

ตรีอุบล แก้วหย่อง

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีการอาหาร) คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 85 หน้า. 2552.

2552

บทคัดย่อ

ผลของสารฆ่าเชื้อและสารลดแรงตึงผิวในการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ดั้งเดิม และ Salmonella ในผักสดต่างชนิดกัน

ผักสดมีโอกาสปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค  ตั้งแต่การเพาะปลูก  การเก็บเกี่ยว การแปรรูป   รวมทั้งระหว่างการวางจำหน่าย โดยส่วนใหญ่จะปนเปื้อนมาจากสิ่งปฏิกูลทั้งทางตรงและทางอ้อม  เช่น การใช้ปุ๋ยคอก การชลประทานที่มีการปนเปื้อนในน้ำ การมีสุขาภิบาลที่ไม่ถูกสุขลักษณะทั้งในแปลงปลูกและคนงาน รวมถึงการทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ  (Ukuku 2006)   จากการศึกษาจำนวนเชื้อจุลินทรีย์แต่ละชนิดที่พบในผักสดชนิดต่างๆ ที่ยังไม่ได้ล้าง พบว่า ต้นหอม ตะไคร้ ถั่วฝักยาว ผักชี และโหระพา  นอกจากจะตรวจพบ  coliform  แล้ว  ยังตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค  เช่น Salmonella spp.  และ  Listeria monocytogenes   นอกจากนี้ในผักชีและโหระพายังตรวจพบ Staphylococcus aureus  อีกด้วย  ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยลดจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค  จึงได้มีการศึกษาสภาวะในการล้างที่จะสามารถลดเชื้อจุลินทรีย์ให้ได้มากที่สุด  โดยศึกษาผลของสารฆ่าเชื้อร่วมกับสารลดแรงตึงผิวในการลดจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมด  พบว่า  สารละลายคลอรีน  200 ppm ร่วมกับ Tween 80 เข้มข้น 0.1% (FAC+Tween 80) มีประสิทธิภาพในการลดจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดในตะไคร้  ถั่วฝักยาว  และโหระพา ได้มากกว่า สารละลายคลอรีน 200 ppm สารละลายกรดเปอร์อะซิติก 60 ppm  (PA)  สารละลายกรดเปอร์อะซิติก  60 ppm  ร่วมกับ  Tween 80 เข้มข้น 0.1% (PA+Tween 80)  สารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 2.5%  (H2O2)   สารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 2.5%  ร่วมกับ Tween 80  เข้มข้น 0.1%  (H2O2+Tween 80)   และ control (น้ำประปา) (P£0.05)  ส่วนสารละลายคลอรีน 200 ppm  (FAC)  และสารละลายคลอรีน 200 ppm ร่วมกับ Tween 80  เข้มข้น 0.1% (FAC+ Tween 80)  มีประสิทธิภาพในการลดจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดในต้นหอมได้ไม่แตกต่างกัน (P£0.05) แต่สามารถลดจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดได้มากกว่าสารละลายชนิดอื่น  และ control (น้ำประปา)  (P£0.05)    นอกจากนี้ สารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 2.5% ร่วมกับ Tween 80 เข้มข้น 0.1%  (H2O2+Tween80)   สามารถลดจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดในผักชีได้มากกว่าสารละลายชนิดอื่นและ  control  (น้ำประปา) (P£0.05)  ส่วนการศึกษาผลของสารฆ่าเชื้อร่วมกับสารลดแรงตึงผิวในการลดจำนวน Salmonella  typhimurium  ที่ได้จากการจำลองสภาวะการปนเปื้อนในโหระพา  ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกประเภทผักสดที่ตรวจพบ Salmonella spp. มากที่สุดในปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา (สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป  2551)  พบว่า โหระพาที่ล้างด้วยสารละลายคลอรีน 200 ppm ร่วมกับ Tween 80 เข้มข้น 0.1% สามารถลด S. typhimurium ได้มากกว่าสารละลายชนิดอื่น และ control (น้ำประปา) (P£0.05)  นอกจากนี้ เมื่อล้างโหระพาที่สร้างสภาวะการปนเปื้อนด้วย  S. typhimuriumโดยใช้สารละลายสารฆ่าเชื้อชนิดต่างๆแล้วสร้างสภาวะการปนเปื้อนด้วย S. typhimurium ซ้ำอีกครั้งในระหว่างการเก็บที่อุณหภูมิ 5(±2)  ํซ เป็นเวลา 0, 2, และ 4 วัน เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารฆ่าเชื้อ เมื่อเก็บไว้ที่ระยะเวลานานขึ้น  พบว่า ในวันที่ 2 จะมีจำนวน S. typhimurium ลดลงน้อยกว่าวันเริ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P£0.05)  แต่เมื่อเก็บไว้ต่อไปจนครบ 4 วัน พบว่า จำนวน S. typhimurium จะเพิ่มขึ้นจนกระทั่งไม่แตกต่างจากจำนวนจุลินทรีย์เริ่มแรก