บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้ความร้อนต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคและชีวเคมีของเปลือกผลส้มเขียวหวานระหว่างการเข้าทำลายของเชื้อราเขียวและการสะท้านหนาว

ศิริโสภา อินขะ

วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 140 หน้า. 2552.

2552

บทคัดย่อ

ผลของการใช้ความร้อนต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคและชีวเคมีของเปลือกผลส้มเขียวหวานระหว่างการเข้าทำลายของเชื้อราเขียวและการสะท้านหนาว

การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้น้ำร้อนกำจัดราเขียว (Penicillium digitatum) สาเหตุโรคผลเน่าในส้มพันธุ์สายน้ำผึ้ง (Citrus reticulata Blanco cv. Sai Num Pung) เพื่อยืดอายุในการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ และสร้างวิธีการต้นแบบสำหรับใช้ในการค้า นำหลอดบรรจุสปอร์แขวนลอยของราเขียวแช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 45±2 50±2และ55±2°ซ นาน 0.5 1 2และ 3นาที ก่อนการบ่มเชื้อที่อุณหภูมิ 25±2°ซ ในที่มืด เป็นเวลา 48ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่า การแช่สปอร์ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 55±2°ซ นาน 1 2และ 3นาที ทำให้การงอกของสปอร์ลดลง 85-98เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม  ส่วนการแช่ผลส้มในน้ำร้อนที่อุณหภูมิและเวลาเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้นทั้งก่อนและหลังการปลูกราเขียว เปรียบเทียบกับชุดควบคุม (ปลูกเชื้อไม่แช่น้ำร้อน) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 24±2°ซ และความชื้นสัมพัทธ์ 90±5เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 5วัน พบว่า ผลส้มที่แช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิ 50±2°ซ นาน 3นาที และที่อุณหภูมิ 55±2°ซ นาน 2และ 3นาทีหลังการปลูกเชื้อ มีผลทำให้เปอร์เซ็นต์ดัชนีการเกิดโรคลดลง 57-93เปอร์เซ็นต์ ลดความรุนแรงของโรค (ขนาดของแผลลดลงจาก 9.68ซม. เป็น 0.32ซม.) และดัชนีการเกิดสปอร์ลดลง (จาก 4.36เป็น 0.07) เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม

เมื่อศึกษาผลของการใช้น้ำร้อนเพื่อเพิ่มความต้านทานต่อการเกิดโรคผลเน่าระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ ปรากฏว่าผลส้มที่แช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 50±2°ซ นาน 3นาที และที่อุณหภูมิ 55±2°ซ นาน 2และ 3นาที หลังการปลูกเชื้อและเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4±2°ซ และความชื้นสัมพัทธ์ 90±5เปอร์เซ็นต์ นาน 30วัน พบว่า การใช้น้ำร้อนสามารถชะลอการเกิดโรคผลเน่าได้ โดยทำให้จำนวนผลที่เป็นโรคและความรุนแรงของโรคลดลง ผลการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราดตรวจดูราเขียวบนผิวของผลส้ม พบว่าการแช่ผลส้มในน้ำร้อน ทำให้จำนวนสปอร์ลดลง เกิดการเสื่อมสภาพ และเส้นใยแตกแขนงลดลง ในขณะที่สปอร์และเส้นใยของราเขียวในชุดควบคุมมีรูปร่างปกติและมีปริมาณที่หนาแน่นปกคลุมบนผิวของผลส้ม  ยิ่งไปกว่านั้นคิวติเคิลของผลส้มในชุดควบคุมมีผิวขรุขระ และเกิดรอยแตกที่ผิว ในทางตรงกันข้ามผลส้มที่ได้รับความร้อนมีคิวติเคิลเรียบและเป็นเนื้อเดียวกัน  กิจกรรมของเอนไซม์ไคติเนส (chitinase) และเบต้า-1,3-กลูคาเนส (β-1,3-glucanase) ในเนื้อเยื่อ flavedo ของผลส้มที่ผ่านการแช่ในน้ำร้อนเพิ่มขึ้นหลังจากเก็บรักษาเป็นเวลา 15วัน ส่วนกิจกรรมของเอนไซม์เปอร์ออกซิเดส (peroxidase) เพิ่มขึ้นหลังจากเก็บรักษาเป็นเวลา 25วัน เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม  ในการทดลองแยกแถบโปรตีนโดยวิธีเอสดีเอสโพลีอะคริลาไมด์เจลอิเล็กโตรโฟรีซิสความเข้มข้น 10เปอร์เซ็นต์ ผลปรากฏว่าผลส้มที่ผ่านการแช่ในน้ำร้อนหลังการเก็บรักษา 5วันเท่านั้นที่ปรากฏแถบโปรตีนน้ำหนักโมเลกุล 112.20และ 100.00 kDa แต่ชุดควบคุมไม่ปรากฏ และแถบโปรตีนที่น้ำหนักโมเลกุล 22.39 kDa หนากว่าชุดควบคุม

การแช่ผลส้มในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 50±2°ซ นาน 3 นาที และที่อุณหภูมิ 55±2°ซ นาน 2 และ 3 นาทีไม่มีผลต่ออาการสะท้านหนาว เปอร์เซ็นต์การรั่วไหลของสารอิเล็กโตรไลต์ ปริมาณ  มาลอนดิแอลดีไฮด์ (malondialdehyde) และปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ ระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2±2°ซ และความชื้นสัมพัทธ์ 90±5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 30 วัน