บทคัดย่องานวิจัย

ผลของเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ร่วมกับกรดซาลิไซลิกต่อโรคขั้วหวีเน่าและคุณภาพของกล้วยหอมทอง

สังเวียน คำนึง

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 136 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ร่วมกับกรดซาลิไซลิกต่อโรคขั้วหวีเน่าและคุณภาพของกล้วยหอมทอง

งานวิจัยนี้ศึกษาผลของแบคทีเรียปฏิปักษ์ Corynebacterium aquaticum (ไอโซเลต BBA 004 และ BBA 015) Pseudomonas aeruginosa (BBA 017) ที่คัดแยกได้จากเปลือกกล้วยหอมทองและกรดซาลิไซลิกในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทอง (Colletotrichum musae Lasiodiplodia theobromae และ Fusarium sp.) พบว่าเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ไอโซเลต BBA 004 และ BBA 015 สามารถยับยั้งการงอกสปอร์เชื้อรา C. musae ในอาหารเลี้ยงเชื้อ Potato dextrose broth (PDB) ได้สมบูรณ์ และยับยั้งการงอกสปอร์เชื้อรา L. theobromae และ Fusarium sp. ได้ดีกว่าเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ทั้ง 3 ชนิด สามารถผลิตและปลดปล่อยสารเมแทบอไลต์ในอาหารเลี้ยงเชื้อ PDB ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา C. musae เพียงเชื้อเดียว ส่วนกรดซาลิไซลิกความเข้มข้น 1 2 3 และ 4 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการงอกสปอร์เชื้อรา C. musae ได้สมบูรณ์และมีผลยับยั้งการงอกสปอร์เชื้อรา L. theobromae ได้แต่ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติในแต่ละความเข้มข้น ในส่วนของเชื้อรา Fusarium sp. พบว่ากรดซาลิไซลิกความเข้มข้น 2-4 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการงอกสปอร์ได้ไม่แตกต่างกันทางสถิติการศึกษาความรุนแรงของโรคขั้วหวีเน่าเมื่อทดลองทาน้ำ (ชุดควบคุม) เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ (5 x 108 เซลล์/มิลลิลิตร) กรดซาลิไซลิก (2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) หรือเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ร่วมกับกรดซาลิไซลิก (1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) ที่รอยแผลขั้วหวีของกล้วยหอมทองทั้งก่อนและหลังปลูกเชื้อราสาเหตุโรคขั้วหวีเน่า พบว่าการทาขั้วหวีด้วยแบคทีเรียปฏิปักษ์ไอโซเลต BBA 004 BBA 015 และ BBA 017 ก่อนปลูกเชื้อราสาเหตุโรค สามารถควบคุมโรคขั้วหวีเน่าได้ดีกว่าการทาขั้วหวีหลังปลูกเชื้อราสาเหตุโรค ส่วนการทาขั้วหวีด้วยแบคทีเรียปฏิปักษ์ร่วมกับกรดซาลิไซลิก หรือกรดซาลิไซลิกไม่สามารถควบคุมโรคขั้วหวีเน่าได้ การทาขั้วหวีด้วยเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ไอโซเลต BBA 004 และ BBA 015 มีผลทำให้อัตราการหายใจและการพัฒนาของสีเปลือกเพิ่มขึ้น (เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง) ในขณะที่อัตราการผลิตเอทิลีนของกล้วยหอมทองลดลง แต่ไม่มีผลต่อการสูญเสียน้ำหนัก ความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และการยอมรับของผู้บริโภค (สี กลิ่น รสชาติและการยอมรับโดยรวม) และจากการตรวจวัดกิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องความต้านทานโรค พบว่าเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ไอโซเลต BBA 004 และ BBA 015 กระตุ้นกิจกรรมเอนไซม์ Catalase ในผลกล้วยให้สูงขึ้น แต่ลดกิจกรรมเอนไซม์ Polyphenol oxidase และ Peorxidase ส่วนกรดซาลิไซลิกมีผลกระตุ้นกิจกรรมของเอนไซม์ Catalase และ Peroxidase ในผลกล้วยให้สูงขึ้น