บทคัดย่องานวิจัย

การตอบสนองต่อความเครียดต่างชนิดกันของ Vibrio parahaemolyticus

วรินธร ไชยปัดชา

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีการอาหาร) คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 126 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

การตอบสนองต่อความเครียดต่างชนิดกันของ Vibrio parahaemolyticus

การศึกษาการตอบสนองต่อความเครียดต่างชนิดกันของ Vibrio parahaemolyticus โดยแยกเชื้อมาจากอาหารทะเล คือ กุ้งขาว ปลาทู ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่มีเปลือกและแกะเปลือก เมื่อตรวจวิเคราะห์จำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมด (Total Plate Count) และตรวจสอบ V. parahaemolyticus ในอาหารทะเล พบว่า หอยแมลงภู่สด (มีเปลือก) มีจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดและจำนวน V. parahaemolyticus มากที่สุด รองลงมาคือหอยแมลงภู่ (แกะเปลือก) ปลาหมึกกล้วย กุ้งขาว และปลาทู ตามลำดับ และจากการตรวจวิเคราะห์ด้วยชุดทดสอบ API 20E ร่วมกับการย้อมแกรม ความสามารถในการเคลื่อนที่ และการสร้างเอนไซม์ พบว่า สามารถจำแนกแบคทีเรียได้ทั้งหมด 3 ชนิด คือ Vibrio parahaemolyticus, V. fluvialis และ Aeromonas sobria จากนั้นนำเชื้อ V. parahaemolyticus ที่มีการเจริญอยู่ในช่วง Log phase (อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เวลา 5 ชั่วโมง) มาศึกษาผลของความเครียด ได้แก่ ความเย็น การขาดอาหาร ความร้อน การช็อคและการปรับตัวด้วยกรด และคลอรีน ที่มีต่อ V. parahaemolyticus ดังนี้ คือ เมื่อนำเชื้อมาช็อคด้วยความเย็นที่อุณหภูมิ 15 และ  20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 และ 4 ชั่วโมง ในแต่ละอุณหภูมิ โดยเปรียบเทียบกับเชื้อควบคุม (อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เวลา 4 ชั่วโมง) จากนั้นนำมาทดสอบความทนทานต่อความร้อนที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาที อุณหภูมิต่ำที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 วัน และการแช่เยือกแข็งสลับกับการละลายที่อุณหภูมิ -18/25 องศาเซลเซียส จำนวน 6 ไซเคิล พบว่า เชื้อที่ผ่านการช็อคด้วยความเย็นจะมีความทนทานต่อความร้อนต่ำกว่าเชื้อควบคุม แต่จะมีความทนทานต่ออุณหภูมิต่ำและการแช่เยือกแข็งสลับกับการละลายสูงกว่าเชื้อควบคุม เมื่อนำเชื้อมาผ่านขั้นตอนการขาดอาหาร โดยถ่ายเชื้อลงใน NaCl 3% แล้วบ่มที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นนำมาทดสอบความทนทานต่อความร้อนที่อุณหภูมิ 45องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาที และการแช่เยือกแข็งสลับกับการละลายที่อุณหภูมิ -18/25 องศาเซลเซียส จำนวน 6 ไซเคิล โดยเปรียบเทียบกับเชื้อควบคุม (TSB+NaCl 3%) พบว่าเชื้อที่ผ่านการขาดอาหาร จะมีความทนทานต่อทั้งความร้อน และการแช่เยือกแข็งสลับกับการละลายได้มากกว่าเชื้อควบคุม เมื่อนำเชื้อมาช็อคด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 นาที โดยเทียบกับเชื้อควบคุม (อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เวลา 45 นาที) จากนั้นนำมาทดสอบความทนทานต่อกรดอินทรีย์ (กรดซิตริก) อุณหภูมิต่ำที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 วัน และการแช่เยือกแข็งสลับกับการละลายที่อุณหภูมิ -18/25 องศาเซลเซียส จำนวน 6 ไซเคิล พบว่า เชื้อที่ผ่านการช็อคด้วยความร้อนจะมีความทนทานต่อกรดอินทรีย์ (กรดซิตริก) ต่ำกว่าเชื้อควบคุม แต่จะมีความทนทานต่ออุณหภูมิต่ำและการแช่เยือกแข็งสลับกับการละลายสูงกว่าเชื้อควบคุม เมื่อนำเชื้อมาผ่านการช็อคและการปรับตัวด้วยกรด นั่นคือการช็อคด้วยกรด ที่ระดับพีเอช 5.0 เป็นเวลา 15, 30 และ 60 นาที ส่วนการปรับตัวด้วยกรด ใช้ระดับพีเอช 5.8 เป็นเวลา 30 นาที และ 5.0 เป็นเวลา 30 นาที โดยเทียบกับเชื้อควบคุม (พีเอชประมาณ 7.2) จากนั้นนำมาทดสอบความทนทานต่อกรดที่พีเอช 2.0 เป็นเวลา 60 นาที และความร้อนที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาที พบว่า เชื้อที่ผ่านการช็อคและการปรับตัวด้วยกรด จะมีความทนทานต่อทั้งกรดและความร้อนได้มากกว่าเชื้อควบคุม นอกจากนี้ เมื่อนำเชื้อมาช็อคด้วยคลอรีนเข้มข้น 2 mg/L เป็นเวลา 5 และ 10 นาที โดยเทียบกับเชื้อ ควบคุม (ปราศจากการเติมคลอรีน) จากนั้นนำมาทดสอบความทนทานต่อความร้อนที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาที และการแช่เยือกแข็งสลับกับการละลายที่อุณหภูมิ -18/25 องศาเซลเซียส จำนวน 6 ไซเคิล พบว่า เชื้อที่ผ่านการช็อคด้วยคลอรีนจะมีความทนทานต่อทั้งความร้อนและการแช่เยือกแข็งสลับกับการละลายมากกว่าเชื้อควบคุม