ยืดอายุ 'มังคุดสด' ส่งออกทางเรือ

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 4 มกราคม 54
ยืดอายุ 'มังคุดสด' ส่งออกทางเรือ

มังคุด เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งของไทยที่มีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง โดย ปี 2552 มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้น 117,987 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,879.1 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 ส่งออกแล้วประมาณ 115,996 ตัน มูลค่ากว่า 1,877.2 ล้านบาท มีตลาดส่งออกหลัก คือ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน และญี่ปุ่น แต่ที่ผ่านมา ผลผลิตมังคุดของไทยมีประมาณ 20-30% เท่านั้น ที่เป็นมังคุดเกรด A และส่งออกทางเรือไป ยังประเทศที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ กรมวิชาการเกษตรจึงได้เร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษามังคุดผลสดเพื่อการขนส่งทางเรือ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศให้แก่ผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกันยังทำให้สามารถส่งออกมังคุดผลสดทางเรือ ไปยังตลาดกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วย ซึ่งจะช่วยให้สินค้ามังคุดของไทยอยู่บนชั้นวางจำหน่ายได้นานขึ้น และมีโอกาส ทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้นด้วย รวมทั้งยังสามารถแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซียได้

นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เทคนิคการยืดอายุมังคุดหลังการเก็บเกี่ยวนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับภาคเอกชน ในการพัฒนาวัสดุห่อหุ้มมังคุดผลสดที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งทางเรือ โดยเฉพาะการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก LDPE (Low Density Polyethylene) หรือที่เรียกว่า ถุงเย็น มาบรรจุมังคุดผลสดส่งออก ซึ่งบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นพลาสติกใส นิ่มและมัน สามารถยืดตัวได้ดี ทั้งยังกันความชื้นได้ดีพอสมควร แต่จะปล่อยให้ไขมันและอากาศซึมผ่านหรือถ่ายเทได้ง่าย

นอกจากนั้นยังต้องอาศัยเทคนิคการจัดการหลังเก็บเกี่ยวเข้ามาใช้ร่วมด้วย อาทิ การใช้แอกทีฟฟิล์ม (active film) และการใช้เคลือบผิวผลไม้มาใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาคุณภาพ ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพอยู่ ในเกณฑ์สูง สามารถยืดอายุการเก็บรักษามังคุดผลสดให้ยาวนานขึ้นได้ ไม่น้อยกว่า 49 วัน ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายบริษัทสนใจที่จะใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก LDPE เพื่อการส่งออกมังคุดผลสดไปต่างประเทศแล้ว

นางสาวนิลวรรณ ลีอังกูรเสถียร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการศึกษาอุณหภูมิและวัสดุ ห่อหุ้มผลิตผลที่มีผลต่อการเก็บรักษามังคุดหลัง การเก็บเกี่ยวเพื่อส่งออกทางเรือว่า เบื้องต้นเกษตรกรควรเก็บเกี่ยวผลผลิตมังคุดระยะที่ 3 โดยสังเกตที่ผลมังคุดต้องมีสีชมพูสม่ำเสมอ หรือหากแกะผลออกจะมียางในเปลือกน้อย เนื้อและเปลือกแยกออกจากกันได้ปานกลาง และผลมังคุดที่จะนำมาบรรจุในถุง LDPE ต้องไม่เป็นแผลที่เปลือกเพราะหากเก็บไว้นานจะทำให้ผลมังคุดแข็งและไม่ได้ คุณภาพ อย่างไรก็ตาม ก่อนบรรจุมังคุดในถุง LDPE ต้องมีการจัดการตามขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การคัดเลือกคุณภาพมังคุด ล้างทำความสะอาด ล้างด้วยสารคลอรีน 200 ppm ชุบเคลือบผิวด้วยสารเคลือบ ผึ่งให้แห้ง บรรจุ ลงถุง LDPE และนำไปเก็บไว้ใน ห้องเย็น

นอกจากจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาคุณภาพ และช่วยผลักดันส่งออกมังคุดผลสดไปต่างประเทศได้มากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมังคุด วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์และผู้ประกอบการเก็บรักษามังคุดไว้ในห้องเย็นได้นานขึ้นด้วย โดยเฉพาะช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากหรือช่วงพีค (Peak) เกษตรกรอาจระบายผลผลิตไม่ทัน การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก LDPE บรรจุผลผลิตมังคุดเก็บไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด ซึ่งหลังช่วงพีคแล้วค่อยทยอยนำออกมาจำหน่าย จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและขายได้ราคาสูงขึ้นด้วย.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=113381