กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าผลไม้ของสหรัฐฯ

กฎระเบียบด้านสุขอนามัยพืช
   โดยทั่วไป ผลไม้เมืองร้อนนำเข้ามักประสบปัญหาจากการทำลายของแมลงวันทอง (Fruit fly) ในสหรัฐฯแมลงวันทองเมดิเตอร์เรเนียน (Medfly หรือ Mediterranean Fruit Fly- Ceratitis capitata Wiedmann) และแมลงวันทองเม็กซิกัน (Mexfly หรือ Mexican Fruit Fly – Anastrephaludens) จัดว่าเป็นแมลงที่ติดมากับผลไม้นำเข้าและทำความเสียหายให้แก่การเกษตรของสหรัฐอเมริกาอย่างใหญ่หลวง
   ผลไม้สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิดของประเทศไทยเป็นพืชอาศัยของแมลงวันทอง 2 ชนิด ที่จัดว่ามีความสำคัญมากทางด้านการกักกันพืชระหว่างประเทศ ได้แก่ Oriental fruit fly (Bactrocera dorsalis Hendel.) และ Melon fly (Bactrocera cucurbitae Coquillett) ด้วยเหตุนี้จึงมีรายงานว่าผลไม้ของไทยหลายชนิด ซึ่งเป็นพืชอาศัยของแมลงวันทองดังกล่าว เช่น มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น ถูกห้ามนำเข้าในบางประเทศที่เข้มงวดด้านการกักกันพืช เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ท ั้งนี้ข้อจำกัดดังกล่าวจะถูกยกเลิก หากประเทศไทยได้พัฒนาวิธีการกำจัดแมลงวันทองที่มีประสิทธิภาพสูงก่อนการส่งออก
 การปิดฉลากอาหารของประเทศแหล่งกำเนิด (Country of Origin Labeling)
ตามกฎหมายอาหาร ยา และเครื่องสำอาง (Federal Food, Drug, and Cosmetic Act-FD&C Act) ของ Food and Drug Administration (FDA) กำหนดให้ฉลากปิดอาหารต้องให้ข้อมูลเฉพาะ และกระจ่างชัด เพื่อที่ผู้บริโภคทั่วไปจะสามารถอ่านและเข้าใจได้โดยง่าย

ถ้าฉลากปิดอาหารใช้ภาษาต่างประเทศ จะต้องแสดงภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย การปิดฉลาก อาหารจะต้องมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้

  1. ชื่อของอาหาร (Name of the food) ต้องเป็นชื่อสามัญ พิมพ์ด้วยตัวหนา และต้องระบุ สภาพว่าเป็นอาหารทั้งชิ้น หรือผ่าครึ่ง หรือเป็นแผ่น ฯลฯ
  2. ปริมาณสุทธิของอาหาร (Net quantity of contents) อาจระบุในระบบชั่ง ตวง วัด ระบบ ใดก็ได้ เช่น ระบบเมตริก เป็นต้น
  3. ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้บรรจุหีบห่อ หรือผู้แทนจำหน่าย
  4. ส่วนประกอบของอาหาร (Statement of ingredients) ให้ระบุชื่อสามัญของส่วนประกอบ ทั้งหมด รวมทั้งสารเพิ่มรสชาติ กลิ่น และสี (Food additives)
  5. ข้อมูลด้านโภชนาการ (Nutrition information) ต้องระบุขนาดของมื้ออาหาร (Serving size) ปริมาณ มื้ออาหารต่อภาชนะบรรจุ (Number of servings per container) และปริมาณ โภชนาการต่อมื้ออาหาร (Nutrition content of the food per serving) เช่น แคลอรี่ น้ำตาล และเกลือ เป็นต้น
 ข้อตกลงด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures-SPS)
   ข้อตกลงด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures-SPS) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า สมาชิก WTO ต้องยอมรับในสิทธิของแต่ละประเทศที่จะดำเนินมาตรการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช โดยที่มาตรการดังกล่าวจะต้องประเมินความเสี่ยงโดยกรรมวิธีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการทางวิทยาศาสตร์ และนำมาปฏิบัติเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางด้านสาธารณสุข และสภาพแวดล้อมเท่านั้น

นอกจากนั้นหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (The Environmental Protection Agency – EPA) ได้กำหนดมาตรฐานความทนทานต่อสารเคมี กำจัดโรคและแมลง (Pesticides) สารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicides) และสารเคมีกำจัดเชื้อรา(Fungicides) ที่ใช้สำหรับรมควันผลิตผลเกษตร

ระเบียบว่าด้วยระดับความทนทานข้างต้นครอบคลุมผลิตผลที่ผ่านกรรมวิธีทางเคมีทั้งหมดที่นำเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อการ บริโภคของมนุษย์ และสัตว์ โดยผู้ผลิตต้องใช้สารเคมีประเภทที่ลงทะเบียนให้ใช้ได้กับผลิตผล หรือกลุ่มของผลิตผลเฉพาะประเภท (Q label) และต้องปฏิบัติตามวิธี การใช้ที่อยู่บนฉลากด้วย ทั้งนี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (U.S.FDA) จะทดสอบผลิตผลที่นำเข้าสหรัฐฯ ว่าสอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติของ EPA ในเรื่องของสารตกค้างจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่ นอกจากนี้ FDA ยังทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบระดับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ขาด ความปลอดภัย รวมทั้งดำเนินงานวิจัยและพัฒนามาตรฐานของส่วนประกอบ คุณภาพ โภชนาการ และความปลอดภัยของอาหารตลอดจนสารเพิ่ม รสชาติ กลิ่น และสี (Food additives)

ในด้านกฎระเบียบการนำเข้า กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ อนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้และผัก (รวมทั้งสมุนไพรและหน่อพืช) จากประเทศ ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อการบริโภคเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการขยายพันธุ์ มีเพียงส่วนสีเขียวบางส่วนของผลไม้ ผัก และสมุนไพรสดเท่านั้นที่อนุญาตให้นำเข้า ได้แต่การนำเข้าต้องเป็นไปตามเงื่อนไข กฎระเบียบ และมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยพืช (Food Safety Sanitary and Phytosanitary Measures) โดยมีหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้แก่หน่วยงานตรวจสอบพืชและสัตว์ (Animal and Plant Health Inspection Service-APHIS) อนึ่ง การนำเข้าผลิตผลเกษตรนั้น เจ้าหน้าที่จะตรวจ PPQ form เสียก่อนว่าสินค้าที่เดินทางมาถึงได้ผ่านกรรมวิธี ใดมาบ้าง ตัวอย่างในกรณีที่สุ่มตรวจพบศัตรูพืชที่สำคัญ อาทิ Medfly แม้แต่ตัวเดียวที่ติดมากับผลไม้นำเข้าซึ่งผ่านกรรมวิธี Cold Treatment สินค้าชุดนั้นจะต้องถูกยับยั้งไว้จนกว่าการตรวจสอบจะสิ้นสุดลง โดยจะต้องดำเนินการแก้ไขด้วยกรรมวิธีอื่น แต่ถ้า APHIS พิจารณาแล้วมี ความเห็นว่า Cold Treatment วิธีการดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพในการกำจัด fruit fly ก็จะยับยั้งการนำเข้าผลไม้ชนิดนั้นๆ และทำการตรวจสอบ สาเหตุต่อไป

 การจัดทำ Pest Risk Assessments (PRAs)
   การจัดทำ “Pest Risk Assessment” ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO) หมายถึง “การวิเคราะห์ว่า ศัตรูพืชชนิดนั้นๆ เป็นศัตรูพืชที่อาจก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่อาณาเขตของผู้นำเข้า และการประเมินผลแนว โน้มที่จะก่อความเสียหายของศัตรูพืชดังกล่าว ซึ่งยังไม่เคยตรวจพบ หรือตรวจพบแล้วในพื้นที่นั้นๆ หากอยู่ภายใต้การควบคุม”

ภายใต้เงื่อนไข กฎระเบียบ และมาตรการข้างต้น การนำเข้าผลไม้และผักต้องผ่านการประเมินค่าความเสี่ยงต่อโรคและแมลง (Pest Risk Assessment-PRA) ซึ่งด่านกักกันพืช (Plant Protection and Quarantine-PPQ) ภายใต้ APHIS เป็นผู้รับผิดชอบ การจัดทำ PRA มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ขจัดหรือลดความเสี่ยงต่อโรคและแมลงอันอาจติดมากับผลไม้และผักนำเข้าได้ ด้วยสาเหตุดังกล่าวทำให้หลายประเทศไม่สามารถส่งออกผลไม้ และผักบางชนิดมายังสหรัฐอเมริกา หากไม่ผ่านกระบวนการ PRA เสียก่อน

กระบวนการจัดทำ PRAs มีความสำคัญต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้หน่วยงาน APHIS ได้รับ การร้องขอจากประเทศต่างๆ ให้จัดทำ PRA สำหรับสินค้าเกษตรแต่ละชนิดของตน ดังนั้น เพื่อเร่งกระบวนการจัดทำดังกล่าว APHIS เสนอให้ ผู้นำเข้าเหล่านั้นจัดทำ PRA ด้วยตนเองตามแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานกักกันพืช (PPQ, APHIS) หรือ จัดจ้างหน่วยงานเอกชนให้เป็นผู้ ดำเนินการแทน หลังจากนั้นจึงเสนอ PRA ที่เสร็จสมบูรณ์ให้ APHIS พิจารณา โดย APHIS จะให้การรับรองอย่างเป็นทางการ (Accreditation) เมื่อการจัดทำ PRA เสร็จสมบูรณ์ นอกจากนั้น APHIS ยังเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าได้ช่วยจัดทำ PRA ของตน โดยการให้ข้อมูลศัตรูพืชที่ระบาด อยู่ในอาณาเขตก่อนการนำเข้า

 การจัดทำ PRA ของสินค้าเกษตรชนิดต่างๆ ในขณะนี้แยกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
  1. Completed PRA คือ PRA ของสินค้าเกษตรที่ได้ผ่านการพิจารณาจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ทำให้สามารถนำสินค้าชนิดนั้นเข้า สหรัฐอเมริกาได้
  2. Active status PRA คือ PRA ที่ยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ
  3. Pending status PRA คือ PRA ที่ประเทศผู้ส่งออกยังคงต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา
   อนึ่ง สินค้าเกษตรที่ผ่าน Completed PRA แสดงว่าได้ปฏิบัติตามกรรมวิธีการปฏิบัติกับสินค้าเกษตร (Treatment Schedules) ที่ APHIS ให้การรับรอง และไม่พบการทำลายของศัตรูพืชที่สำคัญแต่อย่างใดการจัดทำ PRA นั้น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ถือว่ามีความสอดคล้องกับ แนวทางปฏิบัติของ Pest Risk Analysis ของหน่วยงานอารักขาพืชระดับนานาชาติ เช่น North American Plant Protection Organization-NAPPO, International Plant Protection Convention-IPPC ซึ่งอยู่ภายใต้ FAO เป็นต้น
เรียบเรียงจาก ปราการ วีรกุล กรมวิชาการเกษตร