บทคัดย่องานวิจัย

การหาความแก่ของผลทุเรียนด้วยการวัดการลดทอนของคลื่นอัลตร้าโซนิกส์

โกสินทร์ จำนงไทย และ วุฒิวัฒน์ คงรัตนประเสริฐ

กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ, การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 3 , 22-25 เมษายน 2546 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร. หน้า 89

2546

บทคัดย่อ

การหาความแก่ของผลทุเรียนด้วยการวัดการลดทอนของคลื่นอัลตร้าโซนิกส์   ในการตรวจหาความแก่อ่อนของทุเรียนแบบไม่ทำลาย เป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมากในการควบคุมคุณภาพ เนื่องจากทุเรียนมีคุณสมบัติเฉพาะอย่าง เช่น มีเปลือกหนา รูปทรงที่ไม่แน่นอน ผิวไม่เรียบ มีหนามแหลมคมและมีขนาดใหญ่ เป็นต้น การหาความแก่อ่อนแบบไม่ทำลายได้เป็นที่ต้องการแต่กระทำได้ยาก งานวิจัยนี้นำเสนอการตรวจหาความแก่อ่อนของทุเรียนแบบไม่ทำลาย 2 วิธีโดยการใช้การสั่นสะเทือนและอุลตร้าโซนิกซ์ ในวิธีการสั่นสะเทือน การสั่นสะเทือน แบบคงที่ถูกป้อนให้กับผลทุเรียนตรงบริเวณร่องหนามกลางพลู ส่งผลให้ทุเรียนเกิดการสั่นสะเทือนและวัดการตอบสนองของผลทุเรียนต่อความถี่ในการสั่นสะเทือนแบบดิสครีต (Discrete Wavelets Transform) และหาความหนาแน่นของแถบความถื่ (Power Spectral Density) และทำการจับคู่ (Template matching) ด้วยการหาค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างความหนาแน่นของแถบความถี่สูงกับแบบรูป(Template) เพื่อหาความแก่อ่อนของทุเรียน ในการทดลองได้ทำการเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ของวิธีหาร้อยละของน้ำหนักแห้ง(Percent of dry weight) ซึ่งเป็นวิธีการหาความแก่อ่อนที่ถือเป็นมาตรฐาน ผลลัพธ์ที่ได้มีความถูกต้องร้อยละ 75.92 ในวิธีอุลตร้าโซนิกส์ คลื่นอัลตร้าโซนิกส์จากพิโซอิเล็กตริก(ตัวส่ง) ถูกป้อนให้กับผลทุเรียนตรงร่องหนามบริเวณกลางพลูและวัดการตอบสนองด้วยพิโซอิเล็กตริก(ตัวรับ) และนำสัญญาณที่ได้รับไปประมวลผลด้วยการาค่าสหสัมพันธ์(Correlation) ระหว่างความหนาแน่นของแถบความถี่สูงของสัญญาณอุลตร้าโซนิกส์ที่วัดได้กับแบบรูป (Template) เพื่อหาความแก่อ่อนของทุเรียนที่สัมพันธ์กับการดูดกลืนสัญญาณอุลตร้าโซนิกส์ของผลทุเรียนตามระดับความแก่อ่อน ในการทดลองกับทุเรียน 81ผล ได้ทำการเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ของวิธีหาร้อยละของน้ำหนักแห้ง ผลลัพธ์ที่ได้มีความถูกต้องร้อยละ 93.33