บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา วิธีการเก็บเกี่ยว และสภาพการเก็บรักษา

ศิรกานต์ มุกดาหาร, พรรณา ไวคกุล, นวลจันทร์ วิไลพล และ จงกล กรรณเลขา

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 33 ฉบับที่ 4-5 (พิเศษ) : 53-57 (2545)

2545

บทคัดย่อ

อิทธิพลของระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา วิธีการเก็บเกี่ยว และสภาพการเก็บรักษา ในปัจจุบันได้มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่พบว่ายังมีปัญหาเรื่องคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นจึงทำการศึกษาอิทธิพลของระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา วิธีเก็บเกี่ยว และสภาพการเก็บรักษาที่มีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 1 โดยแบ่งเป็น 3 การทดลองดังนี้ การทดลองที่ 1 ศึกษาระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 1 พบว่า ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาอยู่ที่ 48 วันหลังดอกบาน ซึ่งเป็นระยะที่เมล็ดมีน้ำหนักแห้งสูงสุด การทดลองที่ 2 ศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติ แบ่งการเก็บเกี่ยวเป็น 3 วิธีคือ การเก็บเกี่ยว 1 ครั้งการเก็บเกี่ยว 2 ครั้งและการเก็บเกี่ยว 3 ครั้ง พบว่า การเก็บเกี่ยว 2 ครั้งคือ การเก็บครั้งที่ 1 ที่ 88 วันหลังปลูก และการเก็บครั้งที่ 2 หลังจากเก็บครั้งแรก8 วัน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและมีผลผลิตเมล็ดดีสูงที่สุด การทดลองที่ 3 ศึกษาการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากวิธีการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน แบ่งเป็น 2 การทดลองย่อยคือ การเก็บรักษาในห้องเก็บเมล็ดพันธุ์ศูนย์ขยายพันธุ์พืช อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60 เปอร์เซ็นต์ และเก็บที่อุณหภูมิห้อง พบว่า การเก็บรักษาเมล็ดถั่วเหลืองฝักสดให้ได้ระยะเวลานานหากแยกวิธีการเก็บเกี่ยวแล้วเมล็ดที่ได้จากการเลือกปลิดฝักแก่จะสามารถเก็บไว้ได้นานในทุกสภาพและทุกภาชนะ ส่วนภาชนะในการเก็บรักษา ถุงพลาสติกและปี๊บสามารถเก็บรักษาเมล็ดได้นานที่สุด