บทคัดย่องานวิจัย

อายุของผลพริกต่อการแสดงอาการของโรคแอนแทรคโนส

ชัชมาศ การญจนอุดมการ, Thierry Jaunet, สุดใจ ใจเกลี้ยง และ อรรัตน์ มงคลพร

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 1, 11-13 กรกฎาคม 2544. ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ. กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. หน้า 137.

2544

บทคัดย่อ

อายุของผลพริกต่อการแสดงอาการของโรคแอนแทรคโนส  พริกเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศ ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตพริกเป็นการค้า คือ โรคแอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้ง ซึ่งเกิดจากเชื้อสาเหตุ Colletotrichum spp. ซึ่งทำลายผลผลิตพริกมากกว่า 50% พันธุ์พริกที่ปลูกในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็น Capsicum annuum ซึ่งไม่มีลักษณะต้านทาน โรคแอนแทรคโนสเลย ภาควิชาพืชสวน ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อน(TVRC) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม มีโครงการปรับปรุงพันธุ์ คือการคัดเลือกลักษณะต้านทานโรคแอนแทรคโนส ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการแสดงอาการของโรคได้ เช่น อุณหภูมิ แสง ความชื้นสัมพัทธ์ อายุและปริมาณของเชื้อ ตลอดจนวิธีการปลูกเชื้อและอายุของผลพริก ซึ่งในพริกที่มีอายุผลต่างกันจะมีอาการของโรคต่างกัน

การทดลองนี้วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการปลูกเชื้อบนผลพริกในห้องปฎิบัติการ ซึ่งสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้รวมทั้งศึกษาอายุที่เหมาะสมของผลพริกต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุ โดยใช้พริกชี้ฟ้าเหลืองที่อายุต่างกัน 4 ระยะ คือ ผลอ่อน ผลแก่สีเขียว ผลระยะเปลี่ยนสี และผลสุก ทำการปลูกเชื้อโดยการทำแผลและใช้ spore suspension ของเชื้อ C. capsici และ C. gloeosporioides อายุ 7 วัน ภายใต้แสง 24 ชั่วโมง จำนวน 6 ml บ่มผลพริกไว้ที่อุณหภูมิ 25-26 °C ความชื้นสัมพัทธ์ 100% คาดว่าจะทราบถึงอายุที่เหมาะสมของผลพริกต่อการเข้าทำลายของเชื้อทั้งสองได้ และวิธีการปลูกเชื้อที่เหมาะสมในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ในงานปรับปรุงพันธุ์พริกต่อไปในอนาคต