บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวแบบใช้แรงเหวี่ยงกระทบที่ใช้กับข้าวเมล็ดสั้นให้ใช้ได้กับข้าวเมล็ดยาว

ศักดินา ไชยแสน ศุภวัฒน์ กลัดทอง และสมศักดิ์ สองศรี

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2538.

2538

บทคัดย่อ

การศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวแบบใช้แรงเหวี่ยงกระทบที่ใช้กับข้าวเมล็ดสั้นให้ใช้ได้กับข้าวเมล็ดยาว

·  ในการทดลองเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวแบบแรงเหวี่ยงกระทบที่ใช้สำหรับข้าวเมล็ดสั้นให้ใช้ได้กับข้าวเมล็ดยาวนี้ ได้มุ่งพิจารณาไปที่ปัจจัยหลักอันได้แก่ ความเร็วรอบของจานเหวี่ยงซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้แรงกระแทกและแรงเสียดทานเกิดที่ผนังมากหรือน้อย โดยได้ทดลองที่ความเร็วรอบ 3 ค่าคือ 3200, 3400 และ 3600 รอบต่อนาที ปัจจัยรองลงมาคือความชื้นในเมล็ดข้าว โดยพิจารณาที่ความชื้น 14% wb, 12% wb และ 10 wb โดยประมาณ ปัจจัยเสริมคือ ชนิดแผ่นกระทบที่มีความแข็งแตกต่างกันคือ แผ่นเดิมที่ติดมากับเครื่อง, แผ่นกระทบสายพานยาง และแผ่นกระทบสายพานผ้า ซึ่งวัดความแข็งตาม Rockwell Scale ได้เป็น 85 HRR, 41 HRR และ 50 HRR ตามลำดับ โดยทดลองกับเมล็ดพันธ์ข้าว 4 พันธุ์ คือ กข. 6, กข. 7, ดอกมะลิ 105 และชาชานิชิกิ

·  ผลการทดลองสรุปได้ว่า ที่ความเร็วรอบของจานเหวี่ยงสูงขึ้น เปอร์เซนต์แตกหักของข้าวเมล็ดยาวก็สูงขึ้น ที่ความชื้นต่ำกว่า 14% wb เปอร์เซนต์การแตกหักของข้าวเมล็ดยาวก็สูงขึ้น แต่ความแข็งของแผ่นกระทบนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซนต์การแตกหักของเมล็ดข้าวในทางสถิติ ข้าวเมล็ดยาวมีเปอร์เซนต์การแตกหักสูงกว่าข้าวเมล็ดสั้นมากคือ ข้าว กข. 6 ดอกมะลิ 105 และข้าว กข. 7 มีอัตราการแตกหักน้อยที่สุดเท่ากับ 35.62%, 16.08% และ 9.22% ตามลำดับที่ความชื้นในเมล็ดข้าว 14 wb ความเร็วรอบของจานเหวี่ยง 3200 รอบต่อนาที และแผ่นกระทบสายพานผ้า ซึ่งสูงกว่า อัตราการแตกหักที่น้อยที่สุด ของข้าวชาชานิกิ ที่ทดลองกับแผ่นกระทบเดิมที่มากับเครื่อง ที่ความชื้นในเมล็ดข้าว 14% wb ซึ่งเท่ากับ 2.66% อยู่ 32.92%, 13.42% และ 6.56% ตามลำดับ