บทคัดย่องานวิจัย

การเก็บรักษาข้าวโพดแบบไร้อากาศเพื่อป้องกันแอฟลาทอกซินในระดับเกษตรกร

ปริศนา สิริอาชา ศุภรัตน์ โฆษิตเจริญกุล อรุณศรี วงษ์อุไร ประวัติ ตันบุญเอก และ สุภาภรณ์ อิสริโยดม

รายงานการวิจัย กลุ่มงานวิจัยโรคพืชผลิตผลเกษตร กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ.

2536

บทคัดย่อ

การเก็บรักษาข้าวโพดแบบไร้อากาศเพื่อป้องกันแอฟลาทอกซินในระดับเกษตรกร

ในปี 2533 กลุ่มงานวิจัยโรคพืชผลิตผลเกษตร ร่วมกับศูนย์วิจัยการเกษตรเขตร้อนแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบการป้องกันแอฟลาทอกซินในข้าวโพดความชื้นสูง โดยกักเก็บในสภาพไร้อากาศในถุงพลาสติก ชนิด High Density Polyethylene หนา 40 ไมโครมิเตอร์ ในปี 2534-2535 ภายใต้โครงการศูนย์ปรับปรุงคุณภาพข้าวโพด ได้ดำเนินการศึกษาต่อถึงปัจจัยที่มีผลในการยับยั้งเชื้อรา Aspergillus flavus และแอฟลาทอกซิน ตลอดถึงความปลอดภัยในการนำไปใช้ในอาหารสัตว์และนำไปทดลองเลี้ยงไก่ได้ จนประสบความสำเร็จ ในปี 2536 จึงได้นำวิธีการนี้ ไปปรับใช้ในระดับเกษตรกรเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองลูกผสม 3 สายเลือดใช้ข้าวโพด 2 พันธุ์ คือพันธุ์ นครสวรรค์ และซีบาไกกี้ บรรจุข้าวโพด 80 กก. ในถุงพลาสติกชนิด High Density Polyethylene หนา 40 ไมโครมิเตอร์ ทยอยมาตากและบดเลี้ยงสัตว์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วปิดถุงเก็บต่อไป ทำเช่นนี้ 4 สัปดาห์ และครั้งสุดท้าย 4 เดือน นำข้าวโพดไปใช้เลี้ยงไก่ ตั้งแต่อายุ 1 วัน จน 12 สัปดาห์ ผลจากการศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของไก่ น้ำหนักตัวการบริโภคอาหาร การใช้ประโยชน์ของอาหาร และประสิทธิภาพของการใช้อาหาร ไก่เจริญได้ปกติเมื่อเปรียบเทียบกับไก่ที่เลี้ยงด้วยข้าวโพดสด และ/หรือ อาหารสำเร็จรูป และเมื่อนำไก่ที่เลี้ยงมาประกอบเป็นอาหารโดย ย่างและทำ Panel test ไม่พบว่ามีความแตกต่างในเรื่องรสชาติและกลิ่น และผู้บริโภคยอมรับได้