บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำที่ผ่านกรรมวิธีหลังการเก็บเกี่ยวต่างกัน (ระยะที่ 1)

สมชาย บุญประดับ ธีระพล ศิลกุล เทวา เมาลานนท์ ทอม เตียะเพชร มนตรี ชาตะศิริ และ จรัสพร ถาวรสุข

รายงานประจำปี 2535 ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. ชัยนาท.

2535

บทคัดย่อ

การศึกษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำที่ผ่านกรรมวิธีหลังการเก็บเกี่ยวต่างกัน

ในการผลิตถั่วเขียวผิวดำเพื่อการส่งออกมักประสบปัญหาที่สำคัญ คือ คุณภาพ เมล็ดไม่ดี เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติด้วยวิธีดั้งเดิมในช่วงหลังเก็บเกี่ยว ตั้งแต่การนวดและทำความสะอาดเมล็ดที่ไม่ถูกวิธี ดังนั้นจึงศึกษาถึงกรรมวิธีต่างๆ หลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงคุณภาพเมล็ดให้ดีขึ้นความต้องการของตลาด ดำเนินการทดลองที่แปลงทดลองของสถานีทดลองพืชไร่พิษณุโลกในฤดูฝน (สิงหาคม-พฤศจิกายน) ปี 2535 ใช้ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์พิษณุโลก 2 วางแผนการทดลองแบบ 2x3 Factorial in RCB มี 4 ซ้ำ ปัจจัยแรกเป็นวิธีการนวด 2 วิธีคือ นวดบนลานดินและนวดด้วยเครื่องนวด  ปัจจัยที่สองเป็นวิธีทำความสะอาด 3 วิธีคือ ทำความสะอาดด้วยตะแกรงร่อน เครื่องคัดขนาดเล็กและเครื่อง Seed processing ผลการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดหลังผ่านกรรมวิธีต่างๆ พบว่า การนวดด้วยเครื่องนวดถั่วเขียวผิวดำให้ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์สูงกว่าการนวดบนลานดินเท่ากับ 98.4 และ 97.95 ตามลำดับ การทำความสะอาดเมล็ดโดยใช้เครื่องคัดขนาดเล็กและเครื่อง Seed processing ให้ความบริสุทธิ์ของเมล็ดไม่แตกต่างกัน แต่ให้ค่า แตกต่างกันการทำความสะอาดด้วยตะแกรงร่อน ให้ค่าเท่ากับ 98.9 98.6 และ 97 ตามลำดับ การนวดบาลานดินให้ความงอกงามของเมล็ดสูงกว่าการนวดด้วยเครื่องนวด ทั้งวิธี Sand และBP ส่วนการทำความสะอาดด้วยตะแกรงร่อนให้ค่าความงอกงามของเมล็ดสูงกว่าเครื่องคัดขนาดเล็กและเครื่อง Seed processing เช่นกัน สำหรับความแข็งแรงของเมล็ดพบว่า การนวดบนลานดินให้ค่าความแข็งแรงสูงกว่าการนวดด้วยเครื่องนวดเท่ากับ 70.2 และ 56.8 ตามลำดับ  ส่วนการทำความสะอาดเมล็ดด้วยวิธีต่างๆ ให้ผลไม่มีความแตกต่างกัน สำหรับผลการทดลองนี้ยังไม่เสร็จสิ้นต้องตรวจสอบคุณภาพเมล็ดหลังการเก็บรักษาไว้ 3 และ 5 เดือน และค่าวิเคาะห์เปอร์เซ็นต์เชื้อราที่ติดไปกับเมล็ดจากกองโรคพืช