บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาผลของวิธีการเก็บเกี่ยวยาสูบเบอร์เลย์โดยวิธีตัดต้นบ่มและวิธีเก็บเป็นช่วง ๆ

สกล เพชรมณี ประเมิน เวศอุรัย อลงกรณ์ กรณ์ทอง และ ชาญชัย สมาศิลป์

รายงานผลงานวิจัย ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ สถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง สถาบันวิจัยพืชไร่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. เชียงใหม่

2534

บทคัดย่อ

การศึกษาผลของวิธีการเก็บเกี่ยวยาสูบเบอร์เลย์โดยวิธีตัดต้นบ่มและวิธีเก็บเป็นช่วง ๆ

การเก็บเกี่ยวยาสูบประเภทบ่มอากาศทำได้ 2 วิธี คือ เก็บใบบ่ม และตัดต้นข่ม เพื่อศึกษาว่าจะเก็บเกี่ยวใบยาเพื่อบ่มวิธีใด จะให้ใบยาที่มีคุณภาพดีในการใช้เป็นยาสูบตัวรสนำ  วิธีปฏิบัติของการเก็บใบบ่ม คือ เมื่อยาสูบอายุได้ 60-75 วัน ใบยาล่างเริ่มจะแก่ก็ทำการเก็บใบยาจากใบล่างสุดที่แก่จัดก่อน โดยเก็บครั้งละ 4-5 ใบ ขึ้นอยู่กับความแก่ของใบยาแล้วนำมาแยกหมู่ใบยาคือ ยาตีน ยากลาง และยายอด แล้วคัดขนาดความสั้นยาวของใบยาในแต่ละหมู่ให้อยู่ในกลุ่มขนาดเดียวกัน แล้วนำไปเสียบไม้เป็นคู่ ๆ ให้หลังใบชนกันห่างกันประมาณ 2 ซม. ไม้เสียบยาว 45 ซม. แล้วนำเข้าบ่มในโรงบ่ม ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน  สำหรับวิธีตัดต้นบ่มนั้น เมื่อยาสูบอายุได้ 60-70 วัน ใบยาล่างเริ่มแก่ ก็ทำการเก็บเกี่ยวใบยาล่างที่แก่ 4-6 ใบ เช่นเดียวกับวิธีการเก็บใบบ่ม ต่อจากนั้นก็คอยให้ใบยาที่เหลืองบนต้นล่างเหลืองจัดและใบถัดไปเหลืองอ่อนถึงเขียวอ่อนตามลำดับ จึงทำการตัดต้นและนำมาผูกเชือก หรือตอนไม้ที่โคนสำหรับแขวน แต่ก่อนที่จะนำไปแขวนที่โรงบ่มควรทำให้ใบยาเหี่ยวเสียก่อน โดยการแขวนไว้กลางแจ้งมีแดดรำไร จนใบยามีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเล็กน้อย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน แล้วจึงนำเข้าบ่มในโรงบ่ม การบ่มโดยวิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 50-60 วัน ผลการทดลองพบว่า วิธีเก็บใบบ่มให้ผลผลิตแห้งเฉลี่ย 226.36 กก./ไร่ วิธีตัดต้นบ่มให้ผลผลิตใบยาแห้งเฉลี่ย 191.51 กก./ไร่ สีของใบยาตัดต้นบ่มมีสีสดใสสม่ำเสมอ มีความยืดหยุ่นดีกว่าเก็บใบบ่ม อัตราส่วนน้ำหนักสด/น้ำหนักแห้ง ของวิธีการเก็บใบบ่มมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าวิธีการคัดต้นบ่ม