บทคัดย่องานวิจัย

การใช้ดินเบาเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยส้มโอในการกำจัดแมลงศัตรูในโรงเก็บ

ฤชุอร วรรณะ และ สุพรรณี สระชมพู

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 315-318. 2558.

2558

บทคัดย่อ

การใช้ดินเบาเพิ่มประสิทธิภาพน้ำมันหอมระเหยส้มโอในการกำจัดแมลงศัตรูในโรงเก็บ 3 ชนิด ได้แก่ ด้วงงวงข้าว (Sitophilus oryzae (Linnaeus)) ด้วงงวงข้าวโพด (Sitophilus zeamais Motschulsky) และมอดแป้ง (Tribolium castaneum (Herbst)) โดยทดสอบความเป็นพิษจากฤทธิ์ในการฆ่าของน้ำมันหอมระเหยส้มโอ ด้วยวิธี impregnated filter paper และประสิทธิภาพในการกำจัดที่ใช้ดินเบาจากลำปางเป็นสารเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยส้มโอในสภาพห้องปฏิบัติการ พบว่า น้ำมันหอมระเหยส้มโอแสดงความเป็นพิษ (LC50) สูงที่สุด ที่ 72 ชั่วโมง ต่อด้วงงวงข้าว (LC50 = 21,758 ppm) รองลงมา คือ มอดแป้ง (LC50 = 39,665 ppm) และด้วงงวงข้าวโพด (LC50 = 43,315 ppm) ตามลำดับ  ในการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยส้มโอกำจัดแมลงศัตรูในโรงเก็บ พบว่าน้ำมันหอมระเหยส้มโอมีประสิทธิภาพในการกำจัดด้วงงวงข้าวสูงที่สุด ที่ระดับความเข้มข้น 32,000 ppm มีค่าการตาย เท่ากับ 100% ภายในเวลา 48 ชั่วโมง) รองลงมา คือ มอดแป้งและด้วงงวงข้าวโพด ที่ระดับความเข้มข้น 80,000 ppm มีค่าการตายรวม เท่ากับ 100% ภายในเวลา 48 ชั่วโมง  สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำระเหยส้มโอเมื่อใช้ร่วมกับดินเบาในการกำจัดแมลงศัตรูในโรงเก็บ 3 ชนิด พบว่าการใช้น้ำมันหอมระเหย 40,000 ppm ร่วมกับดินเบาจากลำปาง 500 ppm มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูในโรงเก็บทั้ง 3 ชนิด ดีกว่าการใช้น้ำมันหอมระเหยส้มโอหรือดินเบาจากลำปางอย่างเดียว โดยทำให้เกิดการตายถึง 100% ในเวลา 120 ชั่วโมง