บทคัดย่องานวิจัย

วันเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของถั่วฝักยาวและถั่วพุ่มเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์

ศานิต สวัสดิกาญจน์ และ วรรณา พยัคฆศรี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 265-268. 2557.

2557

บทคัดย่อ

การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวันเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของถั่ว 2 ชนิด คือ ถั่วฝักยาว (พันธุ์เนื้อ) และถั่วพุ่ม (พันธุ์ไร้ค้าง) ที่ให้คุณภาพของฝักและเมล็ดพันธุ์สูงสุดของการปลูกในเขตภาคกลางของประเทศไทย ดำเนินการทดลองที่สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ในเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม 2556 วางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design จำนวน 4 ซ้ำ โดยปลูกถั่วฝักยาวและถั่วพุ่มแล้วเก็บเกี่ยวฝักและเมล็ดพันธุ์ที่มีอายุหลังดอกบานต่างกัน 6 ระยะ คือ 9, 12, 15, 18, 21 และ 24 วันในถั่วฝักยาว และ 6, 9, 12, 15, 18 และ 21 วันในถั่วพุ่ม ตรวจวัดคุณภาพของฝักและเมล็ดพันธุ์ที่ทดสอบของแต่ละระยะ 9 ลักษณะ คือ สีฝัก ความยาวฝัก  น้ำหนักฝัก สีเมล็ด ความชื้นของเมล็ด เปอร์เซ็นต์การงอก ความเร็วในการงอก ความยาวยอด และความยาวรากของต้นกล้า พบว่า วันเก็บเกี่ยวของถั่วฝักยาวที่ 21 วันหลังดอกบาน มีคุณภาพของฝักและเมล็ดพันธุ์สูงสุด โดยเมล็ดมีความงอก 96% ฝักมีสีเขียวปนเหลือง และเมล็ดมีสีชมพูปนแดง และมีความแข็งแรงในรูปความเร็วในการงอก ความยาวยอด และความยาวรากของต้นกล้าสูงสุด ส่วนวันเก็บเกี่ยวของถั่วพุ่มที่ 18 วันหลังดอกบานมีคุณภาพฝักและเมล็ดพันธุ์สูงสุด โดยเมล็ดถั่วพุ่มมีความงอก 98% ฝักมีเขียวปนเหลือง และเมล็ดมีสีแดง มีความแข็งแรงในรูปความเร็วในการงอก ความยาวยอด และความยาวรากของต้นกล้าสูงสุด