บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินการสูญเสียคุณภาพของผักกาดขาวระหว่างการเก็บรักษาโดยใช้ค่าคลอโรฟิลล์ฟลูออเรสเซ็นซ์

สายพร ดวงสา และ เรวัติ ชัยราช

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 219-222. 2558.

2558

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผักกาดขาวซึ่งเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 3 ระดับ คือ 5, 15 และ 25°C โดยใช้ค่าคลอโรฟิลล์ฟลูออเรสเซ็นซ์ร่วมกับการสูญเสียน้ำหนัก อัตราการหายใจ ปริมาณวิตามินซี และค่าคะแนนความสด ทำการบันทึกค่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันที่ 0, 1, 3, 5, 7, 10, 15, 20,  25 และ 30 หลังเก็บรักษา ขึ้นอยู่กับอายุการเก็บรักษาที่แต่ละอุณหภูมิ ผลการศึกษา พบว่า ค่า variable (Fv) และ ค่า maximal (Fm) ของผักกาดขาวซึ่งเก็บรักษาที่ทั้ง 3 อุณหภูมิ มีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ชัดเจน ส่วนค่า minimal (Fo) ของผักกาดขาวเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาของการเก็บรักษา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการสูญเสียน้ำหนักและการเพิ่มขึ้นของอัตราการหายใจ ขณะที่ค่า variable: maximal (Fv/Fm) ของผักกาดขาวที่อุณหภูมิทั้ง 3 ระดับ มีการเปลี่ยนแปลงในทางตรงกันข้ามกับการสูญเสียน้ำหนักและอัตราการหายใจ และมีการเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันกับการลดลงของปริมาณวิตามินซีและค่าคะแนนความสด เมื่อวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์ พบว่า ค่า minimal (Fo) มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับการสูญเสียน้ำหนักและอัตราการหายใจ แต่มีความสัมพันธ์ในทางลบกับปริมาณวิตามินซี ขณะที่ค่า variable:maximal (Fv/Fm) มีค่าความสัมพันธ์ในทางลบกับการสูญเสียน้ำหนักและการเพิ่มขึ้นของอัตราการหายใจ และ variable:maximal (Fv/Fm) มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับวิตามินซีและการลดลงของค่าคะแนนความสดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p £ 0.05) ในทุกอุณหภูมิเก็บรักษา ดังนั้น ทั้งค่า minimal (Fo) และค่า variable:maximal (Fv/Fm) จึงน่าจะสามารถใช้เป็นค่าประเมินการสูญเสียคุณภาพแบบไม่ทำลายตัวอย่างในผักกาดขาวได้