บทคัดย่องานวิจัย

ผลของออกซิเจนความเข้มข้นสูงต่อการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการตกกระในกล้วยไข่

เพชรรัตน์ เนตรลักษณ์ ดวงกมล ศศิวัฒนพร และ วชิรญา อิ่มสบาย

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 190-194. 2558.

2558

บทคัดย่อ

การตกกระในกล้วยไข่มีอาการรุนแรงและชัดเจนมากขึ้นในระหว่างการสุก โดยออกซิเจนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเพิ่มระดับความรุนแรงของอาการ งานวิจัยนี้จึงศึกษาถึงออกซิเจนความเข้มข้นสูงต่อการแสดงออกของยีนที่ควบคุมการสังเคราะห์เอนไซม์ในกระบวนการเกิดสีน้ำตาล ได้แก่ phenylalanine ammonia lyase (PAL), polyphenol oxidase (PPO), ยีนควบคุมการสังเคราะห์เอนไซม์ lipoxygenase (LOX) ที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมสภาพของเยื่อหุ้มเซลล์ และยีนที่ควบคุมการสังเคราะห์เอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ โดยทำการเก็บกล้วยไข่ในสภาพอากาศปกติ (ชุดควบคุม) และเก็บในสภาพที่มีออกซิเจนความเข้มข้นสูง (90%) บันทึกผลคะแนนการตกกระ การเปลี่ยนแปลงค่าสีเปลือก (L*, b* และ h) และการแสดงออกของยีนในกล้วยไข่ พบว่า ผลกล้วยไข่ที่ได้รับออกซิเจนความเข้มข้นสูง มีการแสดงออกของยีน MaPAL, MaAPX และ MaGPX ในวันที่ 1 และ 3 มากและหลังจากนั้นจึงลดลงอย่างเด่นชัดในวันที่ 5 ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนการตกกระและการเปลี่ยนแปลงค่าสีของเปลือก (L*, b* และ h) ที่มีค่าลดลงเมื่อกล้วยตกกระมากขึ้น  ในขณะที่กล้วยในชุดควบคุมมีการแสดงออกของยีนเหล่านี้ตลอดเวลา และเกิดการตกกระช้ากว่ากล้วยที่ได้รับออกซิเจนสูง ส่วนยีน MaLOX มีการแสดงออกมากในวันแรกและลดลงอย่างเด่นชัดในวันที่ 5 ในขณะที่ยีน MaPPO มีการแสดงออกไม่แตกต่างกันทั้งสองทรีทเมนต์ จากผลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าระดับออกซิเจนมีผลทำให้ยีนเหล่านั้นมีการแสดงออกมากขึ้น การตกกระของกล้วยไข่ยังมีความสัมพันธ์กับยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิดสีน้ำตาล   การเสื่อมสภาพของเซลล์และการต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสียหายของเยื่อหุ้มเซลล์