บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราบางชนิดต่อการควบคุมโรคแอนแทรคโนสบนผลของทุเรียนที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides

กรรณิการ์ นามสว่าง วีระณีย์ ทองศรี และ สมศิริ แสงโชติ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 151-154. 2562.

2562

บทคัดย่อ

โรคแอนแทรคโนสเป็นปัญหาสำคัญที่พบในพื้นที่การผลิตทุเรียนเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรคโนสกับใบและผลทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยวจึงมีการใช้สารเคมีเพื่อการควบคุมโรค และจากการทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา 7 ชนิด ที่ระดับความเข้มข้นตามฉลาก สูงกว่า 2 เท่า และต่ำกว่า 2 เท่า ของฉลาก โดย 4 ชนิดแรกเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นประจำในสวนทุเรียน ประกอบด้วย carbendazim (1500, 750, 375 ppm), trifroxystrobin (250, 125, 62.5 ppm), prochloraz (1000, 500, 250 ppm) และ mancozeb (4800, 2400, 1200 ppm) อีก 3 ชนิด เป็นกลุ่มสารที่มีพิษตกค้างต่ำกว่า 4 ชนิดแรก ประกอบด้วย pyraclostrobin (250 125 62.5 ppm), difenoconazole (250, 125, 62.5 ppm) และ hexaconazole (140, 70, 35 ppm) ต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา C. gloeosporioides จำนวน 53 ไอโซเลท ที่แยกได้จากแหล่งปลูกทุเรียนทั่วประเทศ ด้วยวิธี Microtiter plate method เปรียบเทียบกับชุดควบคุม (น้ำกลั่น) บ่มที่อุณหภูมิ 25˚C เป็นเวลา 48 ชม. พบว่า mancozeb (750 ppm) สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้มากที่สุดคือ 90.6% รองลงมา คือ pyraclostrobin (125 ppm)   และ difenoconazole (125 ppm)   ยับยั้งได้ 77.4% ในขณะที่ hexaconazole ยับยั้งได้น้อยที่สุดคือ 22.6% ส่วนการควบคุมโรคแอนแทรคโนสในผลทุเรียนด้วยสารเคมี pyraclostrobin ที่ความเข้มข้น 125 ppm โดยการจุ่มผลทุเรียนด้วยสารเคมีดังกล่าว หลังจากการปลูกด้วยเชื้อรา C. gloeosporioides เป็นเวลา 24 ชม. สามารถลดการเกิดโรคแอนแทรคโนสได้ 85 %