บทคัดย่องานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงปริมาณเชื้อราบนเมล็ดข้าวเปลือกระหว่างเก็บรักษาในยุ้งข้าวที่มีการลดความชื้นด้วยการเป่าอากาศแวดล้อม

รังสิมันตุ์ ธีระวงศ์ภิญโญ เนตรนภิส เขียวขำ สมศิริ แสงโชติ วัศพล เบญจกุล มัณฑนา มาแม้นและ ดลฤดี ใจสุทธิ์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 40-43. 2558.

2558

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณเชื้อราบนเมล็ดข้าวเปลือก จากการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงเก็บข้าว เปลือกระดับชุมชนด้วยการเป่าอากาศแวดล้อม เพื่อหาทางแก้ปัญหาการลดความชื้นข้าวเปลือกและการจัดการข้าวเปลือกในโรงเก็บของกลุ่มเกษตรกรที่ลดความชื้นแบบการตากลานซึ่งมีความเสี่ยงต่อความสูญเสียด้านคุณภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ การทดลองใช้ข้าวเปลือกพันธุ์ขาวดอกมะลิ105 (KDML105) และข้าวเหนียว กข6 (RD6) ที่เก็บในยุ้งข้าวของเกษตรกร 2 แห่ง  ในพื้นที่ บ้านโนนสูง ต. คุ้มเก่า อ. เขาวง จ. กาฬสินธุ์ แต่ละยุ้งบรรจุข้าวเก็บเกี่ยวใหม่ประมาณ 7 ตัน เป่าอากาศแวดล้อมภายในยุ้ง เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ทุกเดือน เป็นเวลานาน 4 เดือน สุ่มตรวจบริเวณกลางกอง 5 จุด และบนกอง 3 จุด ตรวจปริมาณเชื้อราบนเมล็ดข้าวเปลือกที่ติดจากแปลงและเชื้อราโรงเก็บ ด้วยวิธี blotter จำแนกชนิดเชื้อราและปริมาณของเมล็ดที่ติดเชื้อ ตรวจวัดความชื้นของเมล็ด  และตรวจวัดความงอกของเมล็ด เชื้อราที่พบมากที่สุดบนเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ KDML105 คือเชื้อรา Cladosporium  sp. Curvularia lunata และ Nigrospora sp. ร้อยละ 46.3 11.1 และ 7.5 ตามลำดับ ส่วนพันธุ์ RD6 มีค่าร้อยละ 17.5 8.7 และ 15 ตามลำดับ ปริมาณเชื้อรา Rhizopus sp. และ Penicillium atramentosum เพิ่มมากขึ้นเมื่อเก็บข้าวเปลือก 12-16 สัปดาห์ ค่า MC เริ่มต้นของเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ KDML105 และ RD6 เมื่อนำมาเข้ายุ้งข้าว มีค่าร้อยละ 13.8 และ 11.7 ตามลำดับ ตลอดการเก็บรักษาพบว่า MC เฉลี่ยกลางกองและบนกองของเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ KDML105 เท่ากับร้อยละ 12.55 และ 11.50 ตามลำดับ ส่วนข้าวเปลือกพันธุ์ RD6 เท่ากับร้อยละ 11.30 และ 11.08 ตามลำดับ เมื่อวัดค่าความชื้นเฉลี่ยเปรียบเทียบก่อนและหลังการเป่าอากาศแวดล้อม พบว่าความชื้นลดลงร้อยละ 0-0.4 ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ความงอกของข้าวเปลือกพันธุ์ KDML105 และ RD6  มีค่าสูงที่สุดคือร้อยละ 96 และ 88 ตามลำดับ เมื่อเก็บรักษานาน 16 สัปดาห์