บทคัดย่องานวิจัย

การตรวจสอบเชื้อรา Aspergillus flavus ที่สร้างสารพิษอะฟลาทอกซินโดยไพรเมอร์ afl R

ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล สรรเสริญ รังสุวรรณ รัติยา พงศ์พิสุทธา และ พิสุทธิ์ เขียวมณี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 52 (2 พิเศษ): 53-56. 2564.

2564

บทคัดย่อ

Aspergillus flavus เป็นเชื้อราที่มีความสำคัญต่อคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรที่พบในระยะหลังการเก็บเกี่ยว โดยเชื้อราสามารถสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินสะสมในธัญพืชและมีอันตรายต่อผู้บริโภค ในธรรมชาติเชื้อรา A. flavus บางสายพันธุ์ไม่สามารถสร้างสารพิษ ดังนั้นการตรวจสอบเชื้อราเพื่อยืนยันการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินจึงมีความจำเป็นสำหรับประเมินคุณภาพผลิตผลเกษตรและการปนเปื้อนก่อนการนำไปผลิตเป็นผลผลิตอาหารตามระบบอุตสาหกรรม จากการรวบรวมเชื้อรา A. flavus ที่แยกจากข้าวโพดอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดนครปฐม พบเชื้อรา A. flavus แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ 1 เชื้อรา A. flavus มีการสร้างเม็ด sclerotium ปริมาณมาก สร้าง conidial head ปริมาณน้อย (AF1) และกลุ่มที่ 2 เชื้อรา A. flavus ที่มีการสร้าง conidial head ในปริมาณมาก ไม่พบการสร้างเม็ด sclerotium หรือพบในปริมาณที่น้อย (AF2) การยืนยันเชื้อรา A. flavus สามารถใช้อาหาร Aspergillus flavus and parasiticus agar (AFPA) โดยพบเฉพาะเชื้อรา A. flavus ทั้งสองกลุ่มมีสีส้มใต้โคโลนี  ในการตรวจสอบการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินสามารถเลี้ยงเชื้อราบนอาหาร Yeast extract sucrose agar (YES) และรมด้วยแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ 25% บนฝาเพลท พบเชื้อรากลุ่ม AF1ที่สร้างสารพิษอะฟลาทอกซินมีการเปลี่ยนแปลงสีใต้โคโลนีเป็นสีชมพู และเมื่อนำมายืนยันการตรวจสอบทางชีวโมเลกุลด้วยไพรเมอร์ afl R (aflatoxin gene) พบเชื้อรา A. flavus ให้แถบ DNA ขนาด 500 bp A. niger พบขนาด 700 bp และ Fusarium sp. พบขนาด 1200 bp ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การตรวจติดตามเชื้อรา A. flavus ในระบบการตรวจรับสินค้าเกษตรสามารถใช้ไพรเมอร์ afl R เข้าร่วมการตรวจ ในขณะที่การตรวจโดยอาหาร YES สามารถแยกโคโลนีของเชื้อรา A. flavus ที่สร้างสารพิษอะฟลาทอกซิน ทั้งนี้ต้องพิจารณาการสร้างสีใต้โคโลนีของเชื้อราที่รบกวนการตรวจสอบ