บทคัดย่องานวิจัย

ลักษณะทางสัณฐานวิทยาและกายภาพ-เคมีของกล้วยทิพรส

สมคิด ใจตรง พิชญานิล โคตรลุน และ สุชาวดี บัวพก

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 52 (2 พิเศษ): 36-40. 2564.

2564

บทคัดย่อ

การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและทางกายภาพของลำต้นเทียม ใบ และปลี ของกล้วยทิพรส [Musa ABBB group ‘Kluai Tiparod’] ดำเนินการโดยนำผลกล้วยที่ระยะบริบูรณ์ทางสรีรวิทยาประเมินจากความบริบูรณ์มาตรฐานของผลกล้วย (ไม่มีเหลี่ยมมากกว่า 90%) ร่วมกับการนับจำนวนหลังตัดปลี จากนั้นเก็บเกี่ยวและทำให้ผลกล้วยสุกที่อุณหภูมิห้อง 30±2 °C และมีความชื้นสัมพัทธ์ 65±2%) นำผลกล้วยที่ระยะบริบูรณ์ทางสรีรวิทยาและระยะสุก (เปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง) มาวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ-เคมี (น้ำหนักเครือ น้ำหนักหวี ความกว้างผล ความยาวผล สีเปลือกผล สีเนื้อผล ความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ และปริมาณกรดที่ไทเทรตได้) พบว่า ลำต้นเทียมของกล้วยทิพรส มีความสูง 318.50±69.78 ซม. ความยาวใบ 179.56±35.27 ซม. ความกว้างใบ 56.38±9.38 ซม. น้ำหนักปลี 624.57±30.91 กรัม ปลีรูปหอก ปลายแหลม มีนวลปกคุลมมาก กาบปลีม้วน กาบปลีด้านนอกสีม่วงแดง ด้านในสีแดง ดอกเพศผู้สีเหลือง ปลายเหลือง ผลกล้วยทิพรสพัฒนาเข้าสู่ระยะบริบูรณ์ทางสรีรวิทยา 126 วันหลังตัดปลี กล้วยทิพรสมีน้ำหนักเครือ 10.40±1.27 กก. 4.43±0.79 หวีต่อเครือ น้ำหนัก 2.60±0.31 กก.ต่อหวี มีผล 11.79±1.18 ผลต่อหวี น้ำหนัก 271.77±6.19 กรัมต่อผล ความกว้างผล 5.22±0.30 ซม. ความยาวผล 16.30±0.30 ซม ความหนาเปลือก 5.17±0.36 มม เมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง ใช้เวลา 4.05±0.05 วัน ในการพัฒนาเข้าสู่ระยะสุกพร้อมบริโภค ความแน่นเนื้อที่ระยะบริบูรณ์ 48.70±2.84 นิวตัน ลดลงเป็น 7.17±1.24 นิวตัน ที่ระยะสุก ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้และปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ที่ระยะสุก คือ 28.42±1.42% และ 0.21±0.01% ตามลำดับ