บทคัดย่องานวิจัย

การใช้ดินเบาจากประเทศไทยเพื่อควบคุมด้วงงวงข้าวโพดและมอดแป้งในเมล็ดข้าว

พัชรดนัย ใจคำ วรวิมล วังศพ่าห์ สิริญา คัมภิโร กรวัฒน์ อรรถโสภา และ เยาวลักษณ์ จันทร์บาง

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 52 (2 พิเศษ): 16-19. 2564.

2564

บทคัดย่อ

ด้วงงวงข้าวโพด (Sitophilus zeamais Motschulsky) เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่เข้าทำลายภายในเมล็ดข้าวในโรงเก็บ และมอดแป้ง (Tribolium casteneum Herbst) เป็นแมลงที่เข้าทำลายซ้ำ การทำลายของแมลงทั้งสองชนิดนี้ส่งผลให้เมล็ดข้าวสูญเสียเชิงปริมาณและคุณภาพ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของดินเบาจากพื้นที่ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ในการควบคุมด้วงงวงข้าวโพดและมอดแป้งในข้าวเปลือกอินทรีย์ และทดสอบพิษทางสัมผัสต่อด้วงงวงข้าวโพดโดยคลุกข้าวเปลือก (14% mc) ที่มีความชื้นเริ่มต้น 14% กับดินเบา ขนาด  250 ไมครอน อัตรา 250, 500, 750 และ 1,000 มิลลิกรัม/ ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม  จำนวน 3 ซ้ำต่อกรรมวิธี พบว่า กรรมวิธีใช้ดินเบาขนาด 750 และ 1,000 มิลลิกรัม/ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม  พบการตายของด้วงงวงข้าวโพดเป็น 100%  หลังได้สัมผัสดินเบาเป็นเวลา 7 วัน เปรียบเทียบกับชุมควบคุมที่ไม่พบการตายของแมลง ส่วนการทดสอบพิษทางสัมผัสต่อมอดแป้ง โดยใช้ดินเบา ขนาด 125 ไมครอนผสมน้ำที่ความเข้มข้น 0, 10 และ 20 % (w/v) ทาลงบนกระดาษกรอง จำนวน 3 ซ้ำต่อกรรมวิธี กับหนอนอายุ 12 วันและดักแด้ พบว่า หนอนอายุ 12 วัน มีการตาย 4.17±2.71, 10.83±2.39 และ 9.17±1.54% ตามลำดับ ส่วนดักแด้มีอัตราการตาย 7.50±1.12, 16.67±4.21 และ 26.67±4.01% ตามลำดับ และเมื่อทดสอบในทำนองเดียวกันกับ มอดแป้งระยะไข่ หนอนวัยอ่อน (อายุ 6 วัน) ดักแด้ และตัวเต็มวัย จำนวน 5 ซ้ำต่อกรรมวิธี พบว่า เฉพาะหนอนวัยอ่อนมีการตาย  0, 92.00±3.39 และ 61.00±15.68% ตามลำดับ หลังสัมผัสดินเบาเป็นเวลา 3 วัน ขณะที่มอดแป้งระยะอื่น ตายน้อยกว่า 20 % สรุปได้ว่า ดินเบาอัตรา 750  มิลลิกรัม/ กิโลกรัม  เพียงพอในการคลุกเมล็ดป้องกันด้วงงวงข้าวโพด และดินเบาผสมน้ำความเข้มข้นตั้งแต่ 10% เหมาะสมในการทาพื้นผิวป้องกันหนอนวัยอ่อนมอดแป้ง