บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเคลือบผิวไคโตซานและไขผึ้งร่วมกับสารสกัดจากเปลือกส้มโอต่อการควบคุมการเกิดโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงน้ำดอกไม้หลังการเก็บเกี่ยว

นันท์ชนก นันทะไชย อินทิรา ลิจันทร์พร ปาลิดา ตั้งอนุรัตน์ และ เรวดี มีสัตย์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 243-246.

2561

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้สารสกัดจากเปลือกส้มโอร่วมกับสารเคลือบผิวในการควบคุมการเกิดโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยปัจจัยที่ศึกษา คือ ความเข้มข้นของสารสกัดจากเปลือกส้มโอและปริมาณสารเคลือบผิวที่เหมาะสมสำหรับการเคลือบผลมะม่วง วิเคราะห์ค่าคุณภาพได้แก่ ค่าสี (L* a* และ b*) การสูญเสียน้ำหนัก ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ และการแสดงอาการโรคแอนแทรคโนส ผลการทดลองพบว่า การเคลือบผิวมะม่วงสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงค่าสี และลดการสูญเสียน้ำหนักได้ดีกว่าการทดลองควบคุมซึ่งไม่เคลือบผิว (p £ 0.05) ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้จากมะม่วงที่ใช้สารเคลือบผิวไคโตซานร่วมกับไขผึ้ง และสารเคลือบผิวไคโตซานร่วมกับไขผึ้งผสมสารสกัดจากเปลือกส้มโอมีแนวโน้มได้ค่าที่ต่ำกว่ามะม่วงที่ไม่ได้ใช้สารเคลือบผิว ในขณะที่ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายได้ของมะม่วงที่ใช้สารเคลือบผิวผสมสารสกัดจากเปลือกส้มโอและมะม่วงที่ใช้สารเคลือบผิวเพียงอย่างเดียวมีค่าสูงกว่ามะม่วงที่ไม่ได้ใช้สารเคลือบผิว มะม่วงที่ไม่ใช้สารเคลือบผิวและใช้สารเคลือบผิวไคโตซานร่วมกับไขผึ้งเริ่มแสดงอาการของโรคแอนแทรคโนสเมื่อเก็บรักษาไว้เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ในขณะที่ผลมะม่วงที่ใช้สารเคลือบผิวไคโตซานร่วมกับไขผึ้งผสมสารสกัดจากเปลือกส้มโอเริ่มแสดงอาการของโรคแอนแทรคโนสในสัปดาห์ที่ 3 ของการเก็บรักษา นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถชะลอความรุนแรงอาการของโรคได้ดีกว่าการใช้สารเคลือบผิวเพียงอย่างเดียว