บทคัดย่องานวิจัย

ผลของชนิดบรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติกต่ออายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4

อภิตา บุญศิริ จิตติมา จิรโพธิธรรม เจริญ ขุนพรม และ พิษณุ บุญศิริ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 211-214.

2561

บทคัดย่อ

แม้ว่าเกษตรกรไทยสามารถปลูกมะม่วงส่งออกได้ตลอดปี แต่ในบางช่วงจะมีผลผลิตน้อยและมีราคาแพงมาก การเก็บรักษามะม่วงในถุงพลาสติก เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาออกไปเพื่อให้ผู้ประกอบการขยายเวลาการจำหน่ายผลมะม่วงออกไปในช่วงผลผลิตมีปริมาณน้อยได้อีกระยะเวลาหนึ่ง จากการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ที่ไม่บรรจุ (ชุดควบคุม) และบรรจุถุงพลาสติกโพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ ได้แก่ PE CF1  FF3 และ FF5 ณ อุณหภูมิ 12+1 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90+5 เปอร์เซ็นต์  ทุกๆ สัปดาห์นำมาบ่มด้วยเอทิฟอนความเข้มข้น 500 พีพีเอ็ม ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พบว่ามะม่วงทุกทรีตเมนต์มีการเน่าเสียเกิดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ยกเว้นมะม่วงบรรจุถุง CF1 และ FF3 พบการเน่าเสียในสัปดาห์ที่ 2 โดยที่มะม่วงชุดควบคุมและที่บรรจุถุง FF5 มีผลเน่าเสียในระดับที่ยอมรับไม่ได้ (มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์) ในสัปดาห์ที่ 3 บรรจุถุง PE  สัปดาห์ที่ 4 บรรจุถุง CF1 และ FF3 ในสัปดาห์ที่ 5 ดังนั้นถุงพลาสติกที่เหมาะสมในการบรรจุผลมะม่วงเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาคือ ถุง CF1 และ FF3  การทดลองพบว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในถุง CF1 และ PE สูงกว่าทรีตเมนต์อื่นๆ ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา  ผลมะม่วงสุกทุกทรีตเมนต์มี TSS เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และ TSS/TA เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วง 1 และ 2 สัปดาห์แรก ตามลำดับ  ขณะที่ TA มีค่าลดลงในช่วง 2 สัปดาห์แรก  การทดลองพบว่ามะม่วงที่บรรจุถุงพลาสติกทุกชนิดมีการสูญเสียน้ำหนักน้อยกว่าชุดควบคุม  ทั้งนี้จากการประเมินทางประสาทสัมผัสพบว่าคะแนนความชอบลดลงตามระยะเวลาการเก็บรักษาที่นานขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้