บทคัดย่องานวิจัย

เชื้อรา Pythium sp. สาเหตุโรครากเน่าของทุเรียน และประสิทธิภาพของสารเคมีในการควบคุม

กนกพร ฉัตรไชยศิริ รัติยา พงศ์พิสุทธา ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล และ สัณฐิติ บินคาเดอร์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 171-174.

2561

บทคัดย่อ

ทุเรียนพันธุ์หมอนทองจัดเป็นพันธุ์ที่มีความอ่อนแอต่อโรครากเน่าและโคนเน่า ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีปริมาณลดลงนอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อราบางชนิดที่แยกได้จากดินจะสามารถเข้าทำลายบริเวณราก กิ่ง และลำต้นของทุเรียนได้ งานวิจัยในครั้งนี้ ได้ทำการจัดจำแนกเชื้อราไอโซเลท SSK01 ซึ่งแยกได้จากดินรอบโคนต้นทุเรียนในเขตจังหวัดศรีสะเกษ โดยอาศัยลักษณะสัณฐานวิทยา และอณูชีวโมเลกุล พบว่าเมื่อทำการเลี้ยงเชื้อราดังกล่าวบนอาหาร potato dextrose agar (PDA) มีลักษณะโคโลนีสีขาว ฟูเล็กน้อย คล้ายกลีบดอกไม้ (petallate) เส้นใยค่อนข้างเหนียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโคโลนีประมาณ 9.0 เซนติเมตร หลังการบ่มนาน 3 วัน เมื่อตรวจสอบด้วยวิธีทางอณูชีวโมเลกุลโดยเทคนิค PCR บริเวณ ITS-region และวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ NCBI พบว่ามีความเหมือนกับเชื้อรา Pythium vexans 97% (accession number HQ643955.1) การศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดเชื้อราจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ etridiazole  fosetyl-aluminium  mancozeb ผสม valifenalate และ metalaxyl ในการควบคุมการเจริญของเส้นใยเชื้อรา พบว่าหลังบ่มเชื้อนาน 3 วัน สารเคมีกำจัดเชื้อรา 3 ชนิด คือ etridiazole  mancozeb ผสม valifenalate และ metalaxyl ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 250 ppm ขึ้นไปสามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้ดีที่สุด