บทคัดย่องานวิจัย

การตอบสนองของ Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc สาเหตุโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองต่อสารเคมีกำจัดเชื้อรา

สัณฐิติ บินคาเดอร์ รัติยา พงศ์พิสุทธา และ ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 167-170.

2561

บทคัดย่อ

ความเสียหายของผลผลิตมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยวนั้น มีสาเหตุจากโรคแอนแทรคโนส ในปริมาณ ค่อนข้างสูง  ซึ่งเกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ในปัจจุบันการควบคุมก่อน และหลังการเก็บเกี่ยวนิยมใช้สารเคมีกำจัดเชื้อรา เนื่องจากเป็นวิธีการที่ไม่ซับซ้อน แต่อาจทำให้เชื้อรากลายพันธุ์ได้ง่าย หากใช้ติดต่อกันยาวนาน วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ เพื่อศึกษาการตอบสนองต่อสารเคมีกำจัดเชื้อรา ของเชื้อรา C. gloeosporioides ที่แยกได้จากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำการจำแนกเชื้อราโดยอาศัยลักษณะทางสัณฐานวิทยา และเทคนิค PCR-RFLPจากนั้นทดสอบการตอบสนองของเชื้อราต่อสารเคมีกำจัดเชื้อราจำนวน 6 ชนิด โดยใช้เทคนิค poisoned food บนอาหาร PDA พบว่าสาร prochloraz ความเข้มข้นตั้งแต่ 10 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งแตกต่างไปจาก carbendazim และ difenoconazole ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยได้ตั้งแต่ความเข้มข้น 100 ppm ขึ้นไป โดยผลจากการทดลองนี้ จะนำไปสู่การใช้สารเคมี ในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของมะม่วง ทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ