บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเกิดเนื้อใสต่อคุณภาพของมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าหลังการเก็บเกี่ยว

ภัทรวรรณ วัฒนกีบุตร วรรณวรางค์ พัฒนะโพธิ์ และ อุษาวดี ชนสุต

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 58-61.

2561

บทคัดย่อ

มะยงชิด Bouae oppositifolia (Roxb.) Adelb. พันธุ์ทูลเกล้าเป็นผลไม้ที่มีอายุสั้นและเน่าเสียเร็วหลังจากเก็บเกี่ยว การเกิดเนื้อใสรอบเมล็ดเป็นอาการผิดปกติที่พบได้บ่อยหลังการเก็บเกี่ยวและอาจเป็นสาเหตุของอายุการเก็บรักษาสั้นของผลมะยงชิด ถึงแม้ว่าอาการของเนื้อใสรอบเมล็ดไม่สามารถมองเห็นได้จากลักษณะภายนอกแต่มีผลต่อคุณภาพ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเกิดเนื้อใสรอบเมล็ดต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางกายภายและเคมีเปรียบเทียบกับผลที่ไม่แสดงอาการ โดยทำการวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพและคุณภาพทางเคมีโดยเปรียบเทียบกับผลมะยงชิดปกติ โดยวัดการเปลี่ยนแปลงสีผิวและเนื้อ ความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำได้ทั้งหมด (TSS) ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TA) กิจกรรมเอนไซม์พอลิกาแลคทูโรเนส (PG) และกิจกรรมเอนไซม์เพคตินเมสทิลเอสเทอเรส (PE) โดยใช้มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า อายุการเก็บเกี่ยว 80 วันหลังดอกบาน เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส จากการศึกษาพบว่า คุณภาพทางกายภาพ ได้แก่ สีเนื้อและสีเปลือกมีสีคล้ำลง และความแน่นเนื้อลดลง ส่วนคุณภาพทางเคมีได้แก่ TSS และ TA มีแนวโน้มลดลง เมื่อเกิดอาการเนื้อใสภายในผลหลังการเก็บรักษา กิจกรรมของเอนไซม์ PE และ PG มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกิจกรรม PG เพิ่มขึ้นสูงสุดในวันที่ 6 หลังการเก็บเกี่ยว ในขณะที่กิจกรรมของเอนไซม์ทั้งสองในเนื้อผลมะยงชิดที่ไม่เกิดเนื้อใสมีกิจกรรมเอนไซม์น้อยกว่า  เพราะฉะนั้นการเกิดเนื้อใสรอบเมล็ดมีผลทำให้คุณภาพของผลมะยงชิดลดลงและอาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมเอนไซม์ PG เมื่อเก็บรักษาอุณหภูมิต่ำ