บทคัดย่องานวิจัย

ผลของระยะการสุกต่อคุณภาพทางกายภาพ เคมีและปริมาณแทนนินในเปลือกผลกล้วยน้ำว้า

พรรณพนัช แช่ม นันท์ชนก นันทะไชย และ อินทิรา ลิจันทร์พร

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 42-45.

2561

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางกายภาพ-เคมีและปริมาณแทนนินของเปลือกผลกล้วยน้ำว้า (Musa spp. ABB ‘Namwa’) ในระยะการสุกต่าง ๆ ระยะการสุกที่ใช้ในการทดลองนี้แบ่งตามสีเปลือกผล โดยระยะที่ 1 (สีเขียวเข้ม) ระยะที่ 2 (สีเขียวสว่าง) ระยะที่ 3  (สีเขียวปนเหลืองเล็กน้อย) ระยะที่ 4 (สีเขียวมากกว่าสีเหลือง)  ระยะที่ 5 (สีเหลืองมากกว่าสีเขียว)  ระยะที่ 6 (สีเหลือง) ระยะที่ 7(สีเหลืองมีจุดที่ผิวเล็กน้อย)  และระยะที่ 8 (สีเหลืองและมีจุดดำที่ผิว)  เมื่อนำเปลือกผลกล้วยทุกระยะไปวิเคราะห์ปริมาณความชื้น ไขมัน เถ้า ปริมาณน้ำในอาหาร ค่าสี และปริมาณแทนนิน ผลการทดลองด้านองค์ประกอบทางเคมีแสดงให้เห็นว่าปริมาณความชื้น น้ำในอาหาร และแทนนินของเปลือกผลกล้วยระยะการสุกที่ 8 ต่ำกว่าเปลือกผลกล้วยทุกระยะ แต่ในระยะที่ 8 มีปริมาณเถ้า โปรตีน และไขมันสูงที่สุด (P<0.05) นอกจากนั้นพบว่าเปลือกผลกล้วยระยะที่ 1 มีค่า L* a* และ b* ต่ำมากกว่าระยะที่ 2-8